
คลังเตรียมชง ครม. รื้อภาษี PHEV อุ้มอุตฯรถยนต์ ค่ายยุโรป/ญี่ปุ่นเฮ-EV จีนเลื่อนผลิต
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพสามิต ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรมสรรพสามิต เป็นกรมที่จัดเก็บรายได้เป็นอันดับ 2 รองจากกรมสรรพากร โดยปีนี้ได้รับเป้าหมายเก็บรายได้ตามเอกสารงบประมาณ 609,700 ล้านบาท จากยอดจัดเก็บจริงปีก่อนราว 522,000 ล้านบาท ซึ่งยอมรับว่า “ท้าทาย” เพราะบทบาทของสรรพสามิตตอนนี้ จะมีเรื่องที่ต้องเน้นความยั่งยืน ให้ความสําคัญกับสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมถึงธรรมาภิบาล หรือเรียกว่าเป็นกรม ESG
“จากตัวเลขเป้าหมายถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายค่อนข้างมาก เพราะนโยบายต่าง ๆ ด้าน ESG ที่กรมต้องสนับสนุน ก็อาจจะมีส่วนที่เราต้องเสียสละเม็ดเงินภาษีสรรพสามิตไปบ้าง แต่เราก็มองว่าการดําเนินการอย่างนี้เป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว”
ภาษีรถยนต์วูบเกือบ 50%
อธิบดีกรมสรรพสามิตระบุว่า ที่ผ่านมา กรมมีบทบาทในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งปัจจุบันเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจึงต้องมีกลไกต่าง ๆ โดยเฉพาะภาษีออกมาสนับสนุนส่งเสริม โดยเห็นได้ว่ารถอีวีจะมีภาษีต่ำกว่ารถยนต์สันดาปมาก จากราว 20% เหลือแค่ 2% ดังนั้นเม็ดเงินภาษีสรรพสามิตรถยนต์จะหายไปค่อนข้างมากเกือบ 50%
“ในอดีตที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีการปรับโครงสร้างใหญ่ ๆ ที่นําไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า สรรพสามิตจัดเก็บภาษีรถยนต์ได้กว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี แต่ว่าในปีที่แล้ว เราจัดเก็บได้ที่ประมาณกว่า 60,000 ล้านบาท ก็ลดลงมากพอสมควร ฉะนั้น ปีนี้ก็จะท้าทาย อาจจะได้ใกล้เคียงปีที่แล้ว ด้วยกําลังซื้อที่ลดลง แต่ถ้ากําลังซื้อกลับมาในปีหน้าก็อาจจะ Pick up แล้วหลังจากเข้าสู่โครงสร้างภาษีปกติแล้ว ภาษีก็จะกลับมา หรือในช่วงหลังปี 2570 ไปแล้ว”
รื้อภาษี PHEV อุ้มซัพพลายเชน
อย่างไรก็ดี ในช่วงเปลี่ยนผ่านก่อนจะไปถึงโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่นั้น ขณะนี้กรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างเสนอปรับภาษีรถยนต์ PHEV (Plug-in Hybrid) ให้สอดคล้องกับยุคเปลี่ยนผ่าน EV ส่วนหนึ่งก็ช่วยซัพพลายเชนของรถยนต์สันดาปให้มีเวลาการปรับตัวมากขึ้น
โดยอัตราภาษีใหม่ของ PHEV ที่อยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ คือกรณีมีระยะการวิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electric Range) ไม่ต่ำกว่า 80 กิโลเมตรต่อการประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง (โดยตัดเงื่อนไขขนาดถังน้ำมันไม่เกิน 45 ลิตร ออก) คิดอัตราภาษี 5% แต่หากมีระยะการวิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้าต่ำกว่า 80 กิโลเมตรต่อการประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง จัดเก็บอัตราภาษีตามมูลค่า 10%
“PHEV ที่กําลังจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ได้ตัดเงื่อนไขเรื่องขนาดถังน้ำมันออก จะต่างจากรถยนต์ตัวอื่น ๆ ที่จะดูจากการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ สำหรับ PHEV เรามาดูที่ระยะทางต่อรอบชาร์จไฟ เพื่อจะช่วยอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วย โดยอัตราภาษี PHEV นี้จะเริ่มบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 2569 เพื่อที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมในช่วงเปลี่ยนผ่าน ก่อนไปถึง EV ก็สามารถที่จะช่วยซัพพลายเชนของส่วนที่ยังมีสันดาปอยู่ ยังมีใช้น้ำมันอยู่ในการปรับตัว ก่อนที่จะเข้าสู่โครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่ในช่วงปี 2573”
อธิบดีกรมสรรพสามิตอธิบายว่า แม้การปรับอัตราภาษี PHEV ยกเลิกเงื่อนไขขนาดถังน้ำมันออกไป แม้จะหลุดธีมเรื่องการคุมคาร์บอนไปบ้าง แต่ก็มองว่าเพราะพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใช้รถปลั๊ก-อิน ไฮบริด เพราะต้องการประหยัดพลังงาน ดังนั้นขนาดถังน้ำมันก็คงไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญในการปล่อยคาร์บอน
ค่ายยุโรป-ญี่ปุ่นได้อานิสงส์
นางสาวกุลยากล่าวว่า ภาษี PHEV จะบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 2569 เนื่องจากต้องให้เวลาผู้ประกอบการในการวางแผนการผลิต ในการพัฒนาเทคโนโลยีการชาร์จไฟ ให้วิ่งได้เกิน 80 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง เพราะถ้ายังวิ่งได้ไม่เกิน 80 กิโลเมตร ก็จะต้องจ่ายภาษี 10% ซึ่งหากผู้ผลิตไม่พัฒนาเทคโนโลยีให้เข้าเงื่อนไขก็จะได้รับผลกระทบต่อราคารถแน่นอน แต่หากทำได้ตามเงื่อนไขก็จะจ่ายภาษีแค่ 5% ราคารถก็จะถูกลง
อย่างไรก็ดี ผู้ผลิตต้องทำให้สอดคล้องกับเกณฑ์อื่น ๆ ด้วย เช่น การใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่ผลิตและประกอบในประเทศตามที่กรมสรรพสามิตกำหนด การใช้แรงงานในประเทศไทย รวมถึงการติดตั้งระบบความปลอดภัย ADAS ตามที่สรรพสามิตกำหนด เป็นต้น
“ข้อดีของการปรับอัตราภาษี PHEV คือคนไม่บ่นมาก เพราะช่วยทุกค่าย รวมทั้งค่ายยุโรป เพราะถ้าไม่ตัดเงื่อนไขเรื่องขนาดถังน้ำมันออก เบนซ์ บีเอ็มดับบลิว จะไม่ได้เลย เพราะค่ายยุโรปถังน้ำมันใหญ่ เพราะเป็นโมเดลที่ผลิตในประเทศของเขา เหมือนเป็นมาตรฐานโลกที่ส่งออกไปทุกที่ ดังนั้นไม่ใช่เฉพาะค่ายญี่ปุ่นที่ได้ หรือค่ายจีนก็ทําได้”
ผ่อนเงื่อนไขผลิตชดเชย EV
อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวเพิ่มเติมถึงมาตรการส่งเสริมรถอีวีว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงของมาตรการ EV 3.5 ซึ่งตามเงื่อนไขคือหากนำรถอีวีเข้ามาจำหน่ายในช่วงนี้ จะต้องผลิตชดเชย 2 เท่า (1 ต่อ 2 คัน) ซึ่งปัจจุบันไม่มีแบรนด์อีวีใหม่ ๆ มาขอเข้าร่วมโครงการเพิ่มแล้ว โดยสรุปมีผู้ผลิตที่เข้ารับการส่งเสริมมาตรการอีวีทั้งแบรนด์รถยนต์และรถจักรยานยนต์ รวมทั้งสิ้น 26 ราย
แม้ว่าสถานการณ์แข่งขันราคาที่รุนแรงของค่ายรถอีวีจีน ในภาวะที่ตลาดชะลอตัว อย่างไรก็ดี นางสาวกุลยายืนยันว่า ผู้ผลิตอีวีที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการ ปัจจุบันก็ยังอยู่กันครบ ไม่มีค่ายไหนถอนตัว
โดยทุกค่ายก็บอกว่ายังสามารถผลิตได้ หากมีการผ่อนปรนเงื่อนไข เนื่องจากเดิมผู้ที่เข้าโครงการ EV 3.0 จะต้องผลิตรถอีวีชดเชยการนำเข้า (1 : 1.5 คัน) ภายในปี 2568 ก็ขอขยายเวลาการผลิตชดเชยภายใต้เงื่อนไข EV 3.5 (ผลิตชดเชย 2 เท่าภายในปี 2569 และ 3 เท่า ภายในปี 2570) ซึ่งเรื่องนี้ก็มีการนําเข้าพิจารณาเห็นชอบในบอร์ด EV แล้ว ค่ายรถอีวีที่เข้ามาลงทุนก็สามารถไปยื่นเรื่องขอบีโอไอได้
“สถานการณ์ตอนนี้แตกต่างจากช่วงปี 2565-2566 ที่กระแสอีวีมาแรง แต่ปลายปีที่แล้วมาถึงปีนี้ ดีมานด์ของตลาดรถยนต์ลดลงไป ฉะนั้นจึงมีการหารือกันว่าจะมีการผ่อนปรนให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งมีการนําเข้าพิจารณาในบอร์ด EV แล้ว รอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็คือจะให้อนุญาตให้ผู้ที่ผลิตไม่ทันตามเงื่อนไข EV 3.0 สามารถที่จะเลื่อนมา EV 3.5 ได้ โดยที่ผู้ประกอบการอีวีไม่เสียค่าปรับ แต่ก็ต้องรับเงื่อนไขว่าต้องมีการผลิตชดเชยที่เพิ่มมากขึ้น”
รื้อภาษีแบตฯเลิกเก็บคงที่ 8%
นางสาวกุลยากล่าวว่า อีกเรื่องที่จะผลักดันออกมาในปีนี้ คือ การปรับโครงสร้างภาษี “แบตเตอรี่” ซึ่งจะเป็นการดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย โดยแบตเตอรี่ไม่ว่าจะเป็นปฐมภูมิ คือใช้แล้วทิ้งเลย แบบถ่านไฟฉาย หรือว่าแบตเตอรี่ที่ชาร์จไฟได้ ปัจจุบันจะเก็บภาษีเท่ากันหมดที่อัตรา 8% ดังนั้น โครงสร้างภาษีใหม่จะพิจารณาว่า หากเป็นแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อัตราภาษีจะต้องน้อยกว่า ทั้งนี้ แบตเตอรี่ต่อไปก็จะเป็นเรื่องที่สําคัญสําหรับที่นำไปใช้ในยานยนต์ไฟฟ้า
“แบตที่ใช้แล้วทิ้ง ต่อไปอัตราภาษีจะสูงกว่าแบตฯที่สามารถนำมาชาร์จใหม่ได้ และต้องดูถึงประสิทธิภาพด้วยว่า รอบชาร์จใช้งานได้นานแค่ไหน ชาร์จได้กี่ครั้ง อย่างนี้จะมีภาษีขั้นบันได และอีกแบบก็คือ บรรจุพลังงานต่อน้ำหนักเบา ก็จะมีอัตราภาษีที่ถูกกว่า ก็จะเป็นขั้นบันได เพื่อที่จะสะท้อนถึงประสิทธิภาพในการใช้ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”
นอกจากนี้ ในเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมก็ยังมีนโยบายภาษีสนับสนุนการใช้ “เอทานอล” ที่ปัจจุบันเป็นอุปทานส่วนเกิน เนื่องจากมีการใช้เป็นส่วนผสมในน้ำมันน้อยลง โดยจะเสนอ ครม.ในเร็ว ๆ นี้ เพื่อพิจารณาเปิดให้อุตสาหกรรมอื่น ๆ นำไปใช้งานได้ ก็คือ อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ที่สามารถนำเอทานอลไปผลิต Bio-Ethylene ได้ เน้นสนับสนุนให้อุตสาหกรรมที่ช่วยสิ่งแวดล้อมมากขึ้นขณะเดียวกันก็เป็นการช่วยภาคการเกษตรด้วย เพราะว่าเอทานอลก็มาจากพืชเกษตรอย่างอ้อย มันสําปะหลัง
รับมือคิดต้นทุนปล่อย “มลพิษ”
อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวว่า อีกเรื่องที่ผ่าน ครม.เห็นชอบแล้ว ก็คือการนํากลไก “ราคาคาร์บอน” มาอยู่ในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ซึ่งเริ่มจาก “ภาษีน้ำมัน” แต่ตรงนี้ต้องย้ำว่า เป็นการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องของการใช้น้ำมัน ว่าหากปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นอากาศมากก็ต้องจ่ายมากขึ้น แต่เริ่มต้นยังไม่กระทบต่อราคาขายปลีก ยังไม่กระทบต่อภาระของผู้ประกอบการ รวมถึงประชาชน เพียงแต่จะมีกลไกราคาคาร์บอนฝังอยู่ในภาษีสรรพสามิตน้ำมันเพื่อสะท้อนต้นทุนการปล่อยคาร์บอน
ส่วนการจะขยายกลไกคาร์บอนไปสินค้าอื่นนอกจากน้ำมันนั้น ต้องขึ้นกับทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่จะมีพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศออกมา ซึ่งจะมีการเก็บค่าธรรมเนียมกับการปล่อยมลพิษ โดยสาเหตุที่กรมสรรพสามิตทำเรื่องน้ำมัน เนื่องจากน้ำมันอยู่ในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตอยู่แล้ว และจากข้อมูล ตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 70% ก็มาจากภาคพลังงานและการขนส่ง ส่วนอีก 15% จะมาจากภาคเกษตร และ 10% จากภาคอุตสาหกรรม
หลักเกณฑ์เก็บภาษีโซเดียม
สำหรับการดูแลทางสังคม ด้านสุขภาพของประชาชน ที่ผ่านมา สรรพสามิตมีการเก็บ “ภาษีความหวาน” ไปแล้ว ขณะนี้กำลังศึกษาการจัดเก็บ “ภาษีความเค็ม” ที่เกี่ยวกับปริมาณโซเดียม ซึ่งจากการศึกษาพบว่า คนไทยบริโภคโซเดียมค่อนข้างมาก ประมาณ 3,600-4000 มิลลิกรัมต่อคนต่อวัน เกินจากค่ามาตรฐานที่ไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อคนต่อวัน โดยคาดว่าปีนี้คงสามารถหาข้อสรุปแนวทางการจัดเก็บได้
“ก็จะคล้าย ๆ กับเรื่องของความหวาน ถ้ามีกลไกทางด้านภาษีเข้ามาช่วย จะทําให้การปรับตัวของผู้บริโภคเปลี่ยนไปได้เร็วขึ้น ตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษาว่าจะเป็นแบบใด คอนเซ็ปต์ก็จะคล้าย ๆ กับภาษีความหวาน ถ้าสินค้ามีปริมาณน้ำตาลเยอะก็เก็บภาษีสูงกว่า ถ้าปริมาณโซเดียมเยอะก็จะเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันได แต่ก็มีความยากกว่าภาษีความหวาน เพราะจะมีการระบุเป็นประเภทสินค้า”
เพิ่มขีดแข่งขัน “สุราชุมชน”
นอกจากนี้ กรมสรรพสามิตยังมีบทบาทในเรื่องการสนับสนุนเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขัน ช่วยดูแลผู้ประกอบการรายเล็กและรายกลาง ด้วยการเปิดกว้างมากขึ้นสําหรับสุราชุมชน ซึ่งตอนนี้กฎหมายผ่านวุฒิสภาเรียบร้อยแล้ว โดยหลังการบังคับใช้ภายใน 180 วัน ก็จะเปิดโอกาสให้สุราชุมชนมีโอกาสที่แข่งขันมากขึ้น คือต่อไปนี้การที่จะตั้งโรงสุราขนาดกลาง ไม่จําเป็นต้องเป็นรายเล็กมาก่อน สามารถเริ่มที่ขนาดกลางได้เลย จากเมื่อก่อนนี้ที่จะต้องเป็นรายเล็กมาก่อน 1 ปี รวมถึงที่ก่อนนี้กำหนดว่าต้องตั้งห่างจากแม่น้ำ หรือว่าเขตที่เป็นลุ่มน้ำไม่น้อยกว่า 100 เมตร ก็ปรับว่าสามารถใกล้กว่า 100 เมตรได้ ขึ้นกับชุมชน แต่ต้องมีระบบบําบัดน้ำเสีย