ม.ค. 68 ” สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ” หั่นค่าทางด่วน 50 บาทตลอดสาย คาดช่วยประชาชนลดค่าใช้จ่ายสูงสุด 3,000 ล้านบาทต่อปี
ม.ค. 68 ” สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ” หั่นค่าทางด่วน 50 บาทตลอดสาย คาดช่วยประชาชนลดค่าใช้จ่ายสูงสุด 3,000 ล้านบาทต่อปี

ม.ค. 68 ” สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ” หั่นค่าทางด่วน 50 บาทตลอดสาย คาดช่วยประชาชนลดค่าใช้จ่ายสูงสุด 3,000 ล้านบาทต่อปี

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเจรจากับเอกชนเพื่อผลักดันนโยบายปรับลดอัตราค่าผ่านทางสูงสุดไม่เกิน 50 บาท โดยระบุว่า ทราบว่าปัจจุบันการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้หารือร่วมกับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในฐานะผู้รับสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 เพื่อปรับลดอัตราค่าผ่านทางแล้ว

 

โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอขอความเห็นชอบการแก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ฉบับแก้ไข) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน - ปากเกร็ด (ฉบับแก้ไข) ตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 คาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาร่วมลงทุนฯ ได้ในเดือน ธ.ค. 2567 และเริ่มปรับลดอัตราค่าผ่านทางในเดือน ม.ค. 2568

นอกจากนี้ กระทรวงฯ ได้มอบหมายให้ กทพ. ไปเจรจาร่วมกับ BEM เพื่อให้ลงทุนก่อสร้างโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 สายงามวงศ์วาน-พระราม 9 (Double Deck) มูลค่าประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดบนทางพิเศษในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานคร โดยในการลงทุนก่อสร้าง Double Deck ของ BEM ในครั้งนี้ จะขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ออกไปอีก 22 ปี 5 เดือน สถานะปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอเรื่องการแก้ไขสัญญาฯ ต่อคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) และเสนอไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

สำหรับการปรับลดอัตราค่าผ่านทางและการปรับปรุงระบบค่าผ่านทาง โดยในเบื้องต้นจะยกเลิกด่านประชาชื่น (ขาออก) และด่านอโศก 3 ซึ่งมีปริมาณจราจรหนาแน่น เพื่อให้การจราจรคล่องตัวมากขึ้น และจะทำการปรับเพิ่มช่องเก็บค่าผ่านทางแบบอัตโนมัติ (ETC) แบบไม่มีไม้กั้น และลดจำนวนช่องเก็บค่าผ่านทางแบบเงินสด (MTC) ซึ่งจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทาง และจะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งผู้ใช้ทางจ่ายค่าผ่านทางในราคาที่เหมาะสม และคุ้มค่าเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ การดำเนินการปรับลดค่าผ่านทางบนโครงข่ายทางพิเศษในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ทางพิเศษเฉลิมมหานคร และทางพิเศษศรีรัช ซึ่งมีจำนวนผู้ใช้ทางพิเศษในปีงบประมาณ 2566 เฉลี่ย 968,150 คัน/วัน จากจำนวนผู้ใช้ทางพิเศษเฉลี่ยรวมทุกสายทาง 1,715,306 คัน/วัน หรือ 56% ของปริมาณจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษทั้งหมด โดยผู้ใช้ทางจะได้รับประโยชน์ สามารถเดินทางข้ามระบบทางพิเศษในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานครโดยจ่ายค่าผ่านทางในอัตราสูงสุดไม่เกิน 50 บาท สำหรับรถยนต์ 4 ล้อ อีกทั้งยังช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางได้สูงสุด 30 นาที/เที่ยว

โดยจากผลการศึกษาของ กทพ. ระบุว่า การปรับลดค่าผ่านทางดังกล่าว สามารถทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนได้ 1,200-3,000 ล้านบาท/ปี ตลอดอายุโครงการ รวมถึงไปจนถึงผลบวกต่อเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะในด้านการประหยัดเวลาการเดินทาง (Value of Time Saving) มูลค่ามากกว่า 1,300 ล้านบาท/ปี

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง