หลังจากพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2566 ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในองค์กรตำรวจอยู่มากมายหลายอย่าง และหนึ่งในนั้นก็คือการยุบ "ตำรวจรถไฟ" ซึ่งจะทำงานบนรถไฟถึง 16 ตุลาคมนี้ เป็นวันสุดท้าย
กองบังคับการตำรวจรถไฟ เป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยเกือบทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทำหน้าที่ดูแลพื้นที่สถานีรถไฟ และชานชาลากว่า 450 แห่ง ทางรถไฟกว่า 4,000 กิโลเมตร จุดตัดผ่านทางรถไฟกว่า 5,000 จุด ผู้โดยสารกว่า 30 ล้านคนต่อปี ขบวนรถโดยสารกว่า 240 ขบวน ซึ่งไม่รวมขบวนรถสินค้า
ปัจจุบันมีอัตรากำลังพลกว่า 600 นาย กระจายอยู่ใน 15 สถานีตำรวจตามเส้นทางรถไฟ และมีหน่วยบริการอยู่ตามสถานีรถไฟ 40 แห่ง โดยปกติแล้ว ในการดูแลความปลอดภัยของตำรวจรถไฟ จะมีตำรวจ 2 นาย โดยสารไปกับขบวนรถไฟทางไกล สายใต้ สายเหนือ และอีสาน
โดยตำรวจจะขึ้นปฎิบัติหน้าที่ตั้งแต่ต้นขบวน จนถึงจุดหมายปลายทาง เพื่อดูแลความปลอดภัยของผู้โดยสาร และยังเป็นการตรวจจับสินค้าหนีภาษี หรือยาเสพติด ที่ถูกลักลอบขนมากับขบวนรถไฟ โดยที่ผ่านมาตำรวจรถไฟสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้หลายคดี โดยเฉพาะคดียาเสพติด ที่ใช้การลำเลียงทางรถไฟ
จากการหารือระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย ในส่วนของพื้นที่กรุงเทพฯ คาดว่าการดูแลจะอยู่ภายใต้ของกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัดนั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร
ซึ่งทางผู้ว่าฯ รฟท. กล่าวว่า จะต้องไม่ลดคุณภาพการให้บริการ และการดูแลความปลอดภัยให้ผู้โดยสารในระหว่างเดินทางด้วยรถไฟ โดยอาจจะต้องมีการจ้างเจ้าหน้าที่ รปภ. เพิ่ม หรืออาจจะทำ MoU ร่วมกับตำรวจให้จัดกำลังมาดูแล โดย รฟท. อาจจะจัดงบประมาณรองรับในส่วนนี้ ซึ่งต้องหารือกันว่าโครงสร้างตำรวจจะดำเนินการในรูปแบบดังกล่าวได้หรือไม่
สำหรับกองบังคับการตำรวจรถไฟ มีประวัติยาวนานมาตั้งแต่ปี 2437 ที่เริ่มก่อตั้งเป็น "กองตระเวนรักษาทางรถไฟสายนครราชสีมา" ในปีต่อๆ มา จึงได้มีการจัดตั้งกองตระเวนรักษาทางรถไฟสายอื่นขึ้น
จนเมื่อช่วงปี 2491-2494 ได้มีเหตุประทุษร้ายต่อทรัพย์สินและชีวิต ของประชาชนที่โดยสารรถไฟ จึงได้มีการจัดตั้ง "กองตำรวจรถไฟ" ขึ้นเมื่อปี 2495 ต่อมาในปี 2548 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "กองบังคับการตำรวจรถไฟ" จนถึงปัจจุบัน
ขอบคุณภาพจาก
- สถานีตำรวจรถไฟหัวหิน