ในที่สุด "รถไฟฟ้าสายสีชมพู" ก็เปิดให้คนกรุงเทพฯ และนนทบุรี ได้ทดลองใช้บริการฟรีกันแล้วในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป และจะเริ่มเก็บค่าโดยสารในวันที่ 3 มกราคม 2567 เป็นต้นไป!
สำหรับอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 15 บาท สูงสุด 45 บาท ซึ่งมีราคาค่าโดยสารเท่ากันกับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ที่เริ่มต้น 15 บาท สูงสุด 45 บาท
รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู หรือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (MRT Pink Line) ช่วงแคราย - มีนบุรี เป็นโครงการรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และนนทบุรี ออกแบบมาเป็นระบบขนส่งมวลชนระบบรอง (Feeder Line) มีระยะทางให้บริการ 34.5 กิโลเมตร
ดำเนินการโดย บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (Northern Bangkok Monorail - NBM) (เป็นบริษัทร่วมทุนโดยกิจการร่วมค้า BSR มี BTS เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ กับ ซิโน-ไทย และ ราช กรุ๊ป) ได้รับสัมปทานตั้งแต่การก่อสร้างจนถึงการเดินรถจาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
การเดินรถไฟฟ้าเป็นแบบยกระดับรางเดี่ยว หรือ โมโนเรล เริ่มต้นที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี เป็นสถานีเชื่อมต่อกับ รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม จากนั้นไปตามถนนติวานนท์ ถนนแจ้งวัฒนะ ถนนรามอินทรา ถนนสีหบุรานุกิจ จนถึงตลาดมีนบุรี แล้วเส้นทางจะเบี่ยงขวาลงไปหาถนนรามคำแหง สิ้นสุดที่แยกรามคำแหง-ร่มเกล้า อันเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม รวมระยะทาง 36 กิโลเมตร
และอีกสายหนึ่งจะวิ่งย้อนกลับขึ้นไปทางปากเกร็ดก่อนเข้าสู่ ซ.แจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 39 หรือซอยเข้าศูนย์การประชุมอิมแพค เพื่อเข้าสู่ใจกลางเมืองทองธานี อันเป็นที่ตั้งของศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี รวมระยะทาง 3 กิโลเมตร
ประกอบด้วยสถานีทั้งหมด 30 แห่ง (พร้อมรหัสสถานี) ได้แก่
- สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี PK01 เชื่อมต่อรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง)
- สถานีแคราย PK02
- สถานีสนามบินน้ำ PK03
- สถานีสามัคคี PK04
- สถานีกรมชลประทาน PK05
- สถานีแยกปากเกร็ด PK06
- สถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด PK07
- สถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 PK08
- สถานีศรีรัช PK09
- สถานีเมืองทองธานี PK10
- สถานีแจ้งวัฒนะ 14 PK11
- สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ PK12
- สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ PK13
- สถานีหลักสี่ PK14 เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต
- สถานีราชภัฏพระนคร PK15
- สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ PK16 เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต
- สถานีรามอินทรา 3 PK17
- สถานีลาดปลาเค้า PK18
- สถานีรามอินทรา กม. 4 PK19
- สถานีมัยลาภ PK20
- สถานีวัชรพล PK21
- สถานีรามอินทรา กม. 6 PK22
- สถานีคู้บอน PK23
- สถานีรามอินทรา กม. 9 PK24
- สถานีวงแหวนรามอินทรา PK25
- สถานีนพรัตน์ PK26
- สถานีบางชัน PK27
- สถานีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ PK28
- สถานีตลาดมีนบุรี PK29
- สถานีมีนบุรี PK30 เชื่อมต่อรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
เส้นทางแยก เมืองทองธานี-อิมแพ็ค
- สถานีเมืองทองธานี PK10
- สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี MT01
- สถานีทะเลสาบเมืองทองธานี MT02
สำหรับตัวสถานีมีความยาว 150 เมตร รองรับขบวนรถไฟฟ้าได้สูงสุด 7 ตู้ ต่อหนึ่งขบวน ใช้รูปแบบชานชาลาด้านข้างทั้งหมด มีประตูกั้นชานชาลาความสูง Half-Height ทุกสถานี
มีโรงจอดรถศูนย์ซ่อมบำรุงและศูนย์ควบคุมการเดินรถตั้งอยู่บริเวณ ถ.ร่มเกล้า ใกล้กับแยกรามคำแหง-ร่มเกล้า ในพื้นที่เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ พร้อมอาคารจอดแล้วจร (Park and Ride) ที่สถานีปลายทาง (มีนบุรี) ซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม จอดรถได้สูงสุด 3,000 คัน
สำหรับตัวรถไฟฟ้า ใช้รถไฟฟ้าโมโนเรลรุ่น Innovia Monorail 300 (อินโนเวีย โมโนเรล 300) จาก Alstom (อัลสตอม) (หรือ Bombadier เดิม) ผลิตโดย CRRC Puzhen Alstom Transportation System (CRRC-PATS) ในมณฑลอานฮุย ประเทศจีน แบบเดียวกับที่ใช้ในรถไฟฟ้าสายสีเหลือง
ขนาดกว้าง 3,147 เมตร ยาว 11.8-13.2 เมตร สูง 4.06 เมตร (เมื่อคร่อมรางทั้งหมด) จุผู้โดยสารสูงสุด 356 คนต่อตู้ (คำนวณอัตราความหนา 4 คน/ตร.ม.) มีทั้งหมด 30 ขบวน 120 ตู้
รับไฟฟ้ากระแสตรง 750 โวลท์ จากรางที่ 3 ที่ติดตั้งด้านข้างคานรองรับทางวิ่งเพื่อป้อนระบบขับเคลื่อนรถ ตัวยางล้อใช้ยางรุ่น X Metro จาก Michelin สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 15,000 คน/ชม. ต่อทิศทาง
ในอนาคตสามารถเพิ่มจำนวนตู้โดยสารเป็น 7 ตู้ต่อขบวน สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 28,000 คน/ชม. ต่อทิศทาง ขบวนรถสามารถขับเคลื่อนจากจุดจอดแต่ละสถานีได้เองโดยไม่ต้องใช้คนควบคุมหรือสั่งการ
แหล่งที่มาข้อมูลและภาพจาก
- การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
- โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี