
พุทธคุณล้วนๆ หนุ่มรอดปาฏิหาริย์ หลับในชนเสาไฟแดงร่วงกระจายเชื่อรอดตายเพราะพระดี
เมื่อเวลา 02.00 น. วันที่ 27 พ.ย. 2567 เจ้าหน้าที่สายตรวจสภ.เมืองชัยนาท รับแจ้งอุบัติเหตุรถชนเสาไฟฟ้า ที่บริเวณ แยกเรือนไม้ ต.บ้านกล้วย อ.เมืองชัยนาท ถนนสายอ.เมืองชัยนาท – เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท รุดตรวจสอบพร้อมเจ้าหน้าที่อาสาสมัครมูลนิธิร่วมกตัญญูจังหวัดชัยนาท
ที่เกิดเหตุพบ นายชยพล ทองอ่อน อายุ 39 ปี ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ส่วนรถกระบะเชฟโรเลต สีบรอนซ์ ทะเบียน กข 25 อ่างทอง สภาพด้านหน้าพังยับ ชิ้นส่วนกระจัดกระจาย เพราะชนเข้ากับเสาบอกทาง แล้วมาหยุดที่เสาสัญญาณไฟจราจร อุปกรณ์บอกสัญญาณไฟเขียวแดงพังล่วงลงมา เสาบอกทางหลุดกระเด็น 1 ต้น ตรวจสอบแล้วไม่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด จึงนำตัวไปสอบปากคำเพิ่มที่เติม สภ.เมืองชัยนาท เพื่อชดใช้ค่าเสียหายทรัพย์สินราชการต่อไป
นายชยพล ทองอ่อน เผยว่า ตนเป็นผู้จัดารบริษัทขนส่งแห่งหนึ่ง ไที่อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ปทำธุระ ที่ อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ไปเซ็นเอกสารเรื่องมรดกที่ดิน พอขากลับ จะไปยังที่พัก เพื่อทำงานในช่วงเช้า แต่ด้วยร่างกายที่พักผ่อนน้อย เริ่มง่วงมาตั้งแต่ช่วงสะพานเขื่อนเจ้าพระยา แต่ก็ฝืนขับมาเพราะอีกประมาณ 10 กว่ากิโลเมตรก็ถึงที่พักแล้ว แต่จู่ๆเกิดอาการวูบหลับไป พอตื่นขึ้นมาอีกทีรถก็ชนเข้ากับเสาไฟ เกิดเสียงดังสนั่น พอตั้งสติได้ก็รีบออกมาจากรถ พอดีมีพลเมืองดีผ่านมาเห็นจึงแจ้งตำรวจให้
ส่วนตัวคิดว่าครั้งนี้ ที่รอดตายมาได้ น่าจะมาจากพุทธคุณของ ตะกรุดหลวงพ่อภู วัดดอนรัก จ.อ่างทอง และก็มีพระปิดตา หลวงพ่อแก่น ที่ห้อยไว้หน้ารถ ช่วยชีวิตไว้
ความเป็นมาเป็นไป ตะกรุดหลวงพ่อภู วัดดอนรัก
ประสบการณ์นำไปสู่การเล่าขานและกลายเป็นตำนานในที่สุด.....ตะกรุดสำนักแรกที่ได้รู้จักเพราะเมื่อก่อนตอนเป็นเด็กในละแวกแถวบ้านถ้าเอ่ยถึงตะกรุดแล้วก็ต้องยกให้ตะกรุดของหลวงพ่อภู จันทโชติ แห่งวัดดอนรัก อำเภอสามโก้ จังหวัดอ่างทอง เป็นตะกรุดที่ขึ้นชื่อลือชามากที่สุดและนับได้ว่าเป็นตะกรุดที่ฝ่ายบู๊เชื่อถือกันอย่างสนิทใจซึ่งก่อให้เกิดประสบการณ์เล่าขานถึงความเข้มขลังกันอย่างต่อเนื่องจนในปัจจุบัน สำหรับอิทธิคุณแห่งตะกรุดหลวงพ่อภู วัดดอนรัก เท่าที่ร่ำลือตรงกันมากที่สุดก็เห็นจะเป็นในด้านมหาอุดจึงกล่าวได้ว่าเป็นอีกหนึ่งตะกรุดในตำนานที่นับวันจะหาได้ยากขึ้นทุกที
จากข้อมูลที่เคยได้ยินได้ฟังและสอบถามเกี่ยวกับการเจริญภาวนาของหลวงพ่อภู วัดดอนรัก ทำให้เชื่อว่าท่านมีความชำนาญกสิณน้ำ ทั้งการนั่งในน้ำตอนท่านสรงน้ำหรือแม้กระทั่งการสมาธิในน้ำกับหลวงพ่อเล็ก วัดพร้าว อำเภอเมืองฯ จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเท่าที่สอบถามถึงลักษณะการนั่งในน้ำนี้มิใช่เป็นการนั่งบนผิวน้ำแต่เป็นการนั่งจมลงในน้ำประมาณครึ่งตัว (ข้อมูลส่วนนี้โปรดใช้วิจารณาญาณในการพิจารณาเพราะเกร็ดประวัติที่นำมาเล่าไว้ก็เพื่อเชื่อมโยงให้เห็นถึงข้อสันนิษฐานว่าท่านน่าจะชำนาญหรือใช้กสิณน้ำลงตะกรุดจึงทำให้ตะกรุดของท่านขึ้นชื่อในด้านหยุดปืนและแคล้วคลาด) สำหรับยันต์ที่ใช้ลงตะกรุดเชื่อว่าตะกรุดของท่านลงด้วยยันต์ตารางสิบหกช่องเดินด้วยคาถาพระเจ้าสิบหกพระองค์เมื่อถอดยันต์แล้วจะได้ว่า “นะมะ นะอะ นอกอนะกะ กอออ นออะ นะอะ กะอัง” เนื่องจากเท่าที่ได้คลี่ตะกรุดและเทียบสอบทานกับที่คนในพื้นที่ที่เคยคลี่ปรากฏว่าตรงกันและเป็นยันต์แบบเดียวกับที่ลงด้านหลังเหรียญเสมา (รุ่นหลัง) ที่วัดดอนรักได้จัดสร้าง สำหรับตะกรุดบางดอกที่ผ่านการใช้มาน้อยเมื่อนำมาส่องดูจะเห็นรอยตารางด้านในและลายมือของท่านจะจารเส้นเล็กคม
ตะกรุดหลวงพ่อภู วัดดอนรัก ในยุคแรกเป็นตะกรุดทำด้วยตะกั่วทุบในระยะแรกขนาดความยาวและความใหญ่ของดอกตะกรุดไม่มีขนาดแน่นอนขึ้นอยู่กับปริมาณและขนาดของตะกั่วตามแต่จะหาได้หัวท้ายมักจะไม่เท่ากันยังไม่มีมาตรฐานหรือเอกลักษณ์ที่ชัดเจนในการแยกแยะหากนับรอบม้วนประมาณสามรอบครึ่งเกือบสี่รอบบริเวณตะเข็บส่วนใหญ่จะไม่เป็นเส้นตรงแต่จะมีลักษณะโค้งน้อย ๆ แบบท้องปลิง เมื่อพูดถึงตะกั่วที่จะนำมาทำตะกรุดเท่าที่ทราบมีหลัก ๆ ด้วยกัน ดังนี้ (1) ตะกั่วนม เป็นตะกั่วที่หล่อเป็นไว้เป็นก้อนคล้ายขนมครกหรือมีลักษณะคล้ายนมสาว (2) ตะกั่วถ้ำชา เป็นตะกั่วแผ่นที่ใช้สำหรับกรุรังไม้ที่ใช้บรรจุชาเพื่อป้องกันความชื้น และ (3) ตะกั่วที่รวบรวมมาจากเศษตะกั่วเหลือใช้อาจจะเป็นตะกั่วอวน ตะกั่วหัวลูกปืน เป็นต้น โดยนำตะกั่วตามแต่จะมีมาหลอมเป็นแท่งแล้วใช้ค้อนทุบให้แผ่เป็นแผ่น ดังนั้น แผ่นตะกั่วที่ทำด้วยกรรมวิธีนี้จะไม่เรียบเนียนเสมอกัน ส่วนตะกรุดในยุคต่อมาทำจากแผ่นตะกั่วที่ใช้เครื่องรีดเป็นแผ่นโดยหลอมตะกั่วเป็นแท่งเหมือนเดิมว่ากันว่าจะทำการหลอมตะกั่วแล้วเทใส่กระบอกไม้ไผ่รวกที่ตัดเป็นท่อน ๆ เพื่อให้เป็นแท่งแล้วนำไปผ่านเครื่องรีดซึ่งมีลักษณะคล้ายเครื่องรีดปลาหมึกแต่ลูกโม่จะมีเป็นกระบอกเรียบไม่ได้มีลักษณะเป็นร่องเฟืองแล้วนำมาตัดเป็นแผ่นสำหรับลงตะกรุดต่อไปส่วนความหนามีพอประมาณไม่ถึงกับบางแบบกระดาษหรือแผ่นตะกั่วสำเร็จรูปในปัจจุบันตะกั่วค่อนข้างมีความแข็งตัวเล็กน้อย สำหรับตะกรุดในยุคนี้เท่าที่เคยเจอมีทั้งตะกรุดโทน และตะกรุดชุดซึ่งตะกรุดชุดนี้จะทำการถักเชือกร้อยตะกรุดเข้าชุดเป็นพวงมีทั้ง ตะกรุดชุด 12 ดอก และตะกรุดชุด 13 ดอก (ในส่วนตะกรุดชุด 13 ดอกนี้จะมีอยู่ตะกรุดอยู่ดอกหนึ่งที่ไม่ได้ร้อยเป็นคู่ ๆ จะถูกร้อยแบบเดี่ยว ๆ และมีขนาดใหญ่กว่าดอกอื่นในชุดจึงมักจะทำให้ถูกตัดแยกออกไป) ความยาวมาตรฐานของตะกรุดในยุคนี้จะยาวราวนิ้วมือสี่นิ้วเรียงกัน เมื่อนับจำนวนรอบม้วนจะราวสามรอบครึ่งส่วนแนวตะเข็บโค้งเป็นท้องปลิงน้อย ๆ ไม่เป็นแนวตรงเสียทีเดียว สำหรับตะกรุดของหลวงพ่อภู วัดดอนรัก จะมีทำจากโลหะอื่นด้วยหรือไม่นั้นไม่ขอยืนยันแต่อย่างไรก็ตามท่านได้ทำตะกรุดหนังเสือไว้ด้วยจำนวนหนึ่งสืบเนื่องมาจากมีผู้นำหนังเสือมาขอให้ท่านทำเป็นตะกรุดให้ตะกรุดหนังสือนี้ค่อนข้างยาวกว่าตะกรุดขนาดมาตรฐานและมีการผู้เชือกไว้ด้วยกันสามเปลาะ คือ หัว กลาง และท้าย การผูกไม่ได้ผูกแบบโยงเส้นเชือกแบบตะกรุดหนังเสือหลวงปู่นาค วัดแจ้ง และเมื่อทำเสร็จแล้วทางเจ้าของก็ยังไม่ได้มารับคืนไปจนกระทั่งท่านมรณภาพ
Cr. FB: เกร็ดประวัติพระเครื่องราง