ในที่สุด "รถไฟฟ้าสายสีเหลือง" วันที่ 3 มิถุนายน 2566 ก็พร้อมเปิดให้คนกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ ได้ทดลองใช้บริการฟรีถึง 30 มิ.ย. 2566! จำนวน 13 สถานี ตั้งแต่สถานีหัวหมาก - สำโรง ระหว่างเวลา 09.00 - 20.00 น. และมีความถี่ในการให้บริการ 10 นาที/ขบวน เพื่อเตรียมความพร้อม และสร้างความคุ้นเคยให้กับผู้โดยสาร
รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง หรือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (MRT Yellow Line) ช่วงลาดพร้าว - สำโรง เป็นโครงการรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออก และตอนเหนือของสมุทรปราการ ออกแบบมาเป็นระบบขนส่งมวลชนระบบรอง (Feeder Line)
ดำเนินการโดย บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (Eastern Bangkok Monorail - EBM) (เป็นบริษัทร่วมทุนโดยกิจการร่วมค้า BSR มี BTS เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ กับ ซิโน-ไทย และ ราช กรุ๊ป) ได้รับสัมปทานตั้งแต่การก่อสร้างจนถึงการเดินรถจาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
การเดินรถไฟฟ้าเป็นแบบยกระดับรางเดี่ยว หรือ โมโนเรล เริ่มต้นที่สถานีลาดพร้าว เป็นสถานีเชื่อมต่อกับ รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล จากนั้นไปตามถนนลาดพร้าว ถนนศรีนครินทร์ และเลี้ยวเข้าถนนเทพารักษ์ สิ้นสุดเส้นทางที่สถานีสำโรง ไปเชื่อมต่อกับ รถไฟฟ้า BTS สายสุขุมวิท
โดยอัตราค่าโดยสารนับตั้งแต่วันที่เปิดให้บริการ ค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 15-45 บาท
เส้นทางสายนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2543 โดยรวมเส้นทางระบบขนส่งมวลชนรองช่วงรัชโยธิน - ศรีเอี่ยม และสำโรง - ศรีสำโรง ให้เป็นเส้นทางเดียวกัน แต่ได้ถูกนำออกไป เมื่อครั้งปรับปรุงแผนแม่บทปี พ.ศ. 2547
ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2550 - 2554 ได้แบ่งเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ ออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงรัชดา/ลาดพร้าว - พัฒนาการ และช่วงพัฒนาการ - สำโรง หรือโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรงในปัจจุบัน
รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 30.4 กิโลเมตร ประกอบด้วยสถานีทั้งหมด 23 แห่ง (พร้อมรหัสสถานี) ได้แก่
- สถานีลาดพร้าว YL01
- สถานีภาวนา YL02
- สถานีโชคชัย 4 YL03
- สถานีลาดพร้าว 71 YL04
- สถานีลาดพร้าว 83 YL05
- สถานีมหาดไทย YL06
- สถานีลาดพร้าว 101 YL07
- สถานีบางกะปิ YL08
- สถานีแยกลำสาลี YL09
- สถานีศรีกรีฑา YL10
- สถานีหัวหมาก YL11
- สถานีกลันตัน YL12
- สถานีศรีนุช YL13
- สถานีศรีนครินทร์ 38 YL14
- สถานีสวนหลวง ร.9 YL15
- สถานีศรีอุดม YL16
- สถานีศรีเอี่ยม YL17
- สถานีศรีลาซาล YL18
- สถานีศรีแบริ่ง YL19
- สถานีศรีด่าน YL20
- สถานีศรีเทพา YL21
- สถานีทิพวัล YL22
- สถานีสำโรง YL23
สำหรับตัวสถานีมีความยาว 150 เมตร รองรับขบวนรถไฟฟ้าได้สูงสุด 7 ตู้ ต่อหนึ่งขบวน ใช้รูปแบบชานชาลาด้านข้างทั้งหมด มีประตูกั้นชานชาลาความสูง Half-Height ทุกสถานี
มีโรงจอดรถศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง อาคารและลานจอดแล้วจร 2 แห่ง ได้แก่ บริเวณสถานีลาดพร้าว อันเป็นอาคารจอดแล้วจรที่ใช้ร่วมกับสายเฉลิมรัชมงคล และบริเวณด้านหน้าศูนย์ซ่อมบำรุงติดสถานีศรีเอี่ยม จอดรถได้ประมาณ 2,800 คัน และมีร้านค้าต่างๆ บริเวณชั้นล่างของอาคาร
สำหรับตัวรถไฟฟ้า ใช้รถไฟฟ้าโมโนเรลรุ่น Innovia Monorail 300 (อินโนเวีย โมโนเรล 300) จาก Alstom (อัลสตอม) (หรือ Bombadier เดิม) ผลิตโดย CRRC Puzhen Alstom Transportation System (CRRC-PATS) ในมณฑลอานฮุย ประเทศจีน
ขนาดกว้าง 3,147 เมตร ยาว 11.8-13.2 เมตร สูง 4.06 เมตร (เมื่อคร่อมรางทั้งหมด) จุผู้โดยสารสูงสุด 356 คนต่อตู้ (คำนวณอัตราความหนา 4 คน/ตร.ม.) มีทั้งหมด 30 ขบวน 120 ตู้
รับไฟฟ้ากระแสตรง 750 โวลท์ จากรางที่ 3 ที่ติดตั้งด้านข้างคานรองรับทางวิ่งเพื่อป้อนระบบขับเคลื่อนรถ ตัวยางล้อใช้ยางรุ่น X Metro จาก Michelin สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 15,000 คน/ชม. ต่อทิศทาง
ในอนาคตสามารถเพิ่มจำนวนตู้โดยสารเป็น 7 ตู้ต่อขบวน สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 28,000 คน/ชม. ต่อทิศทาง ขบวนรถสามารถขับเคลื่อนจากจุดจอดแต่ละสถานีได้เองโดยไม่ต้องใช้คนควบคุมหรือสั่งการ
แหล่งที่มาข้อมูลและภาพจาก
- การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
- รถไฟฟ้าบีทีเอส