"รถจี๊ป" จัดเป็นรถอเนกประสงค์ที่ใช้งานได้สารพัดประโยชน์ แรกเริ่มเเดิมทีเป็นรถที่กองทัพบกสหรัฐฯ พยายามกำหนดมาตรฐานให้กลุ่มยานยนต์ของกองทัพในปี 1939 มีเพียง 6 ขนาดต่างๆ กัน แต่จากการฝึกภาคสนามเมื่อปี 1940 พบว่าต้องมีพาหนะขนาดเล็กที่มีล้อขับได้ 2 แบบ ที่บรรทุกคนขับ 1 คน และผู้โดยสารอีก 3 คน ไปในภูมิประเทศทุกชนิด
ภาพจาก มติชนออนไลน์
แต่ชื่อของ "Jeep" นั้น มีทฤษฎีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ที่คาดว่ามาจากชื่อของ “GP” ซึ่งหมายถึง “General Purpose” (อเนกประสงค์) หรือไม่ก็ได้มาจากตัวการ์ตูน ยูจีน เดอะจิ๊ป (Eugene the Jeep) ในการ์ตูนเรื่องป๊อปอาย ผู้ซึ่งสามารถไปที่ไหนก็ได้
แน่นอนว่าผลพวงจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สหรัฐอเมริกาเป็นฝ่ายชนะ รถจี๊ปกลายเป็นฮีโร่ของทหารฝ่ายสัมพันธมิตร ในฐานะยุทธภัณฑ์สงครามที่อเมริกาทิ้งเอาไว้ในหลายๆ สมรภูมิรบ ก็กลายเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม USA ที่คนรู้จักไปทั้งโลก
ภาพจาก มติชนออนไลน์
รวมถึงในไทย ที่มีรถจี๊ปตกค้างจากสงครามอยู่เป็นจำนวนมาก รวมถึงในอดีตที่นำเข้ามาจากประเทศอื่น และนำเข้ารถจี๊ปจากบริษัทต่างๆ ที่ผลิตขายสำหรับพลเรือนในภายหลัง เช่น Willys-Overland หรือ Mitsubishi ที่ผลิตรถจี๊ปเป็นค่าปฎิกรรมสงครามกับ USA เป็นต้น
ภาพจาก มติชนออนไลน์
บ้านตาชี ต.ตาชี อ.ยะหา จ.ยะลา ได้ชื่อว่ากลายเป็นแหล่งรวมรถจี๊ปโบราณ ตั้งแต่ยุคสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในปัจจุบัน ชาวบ้านในพื้นที่ยังคงใช้รถจี๊ปในชีวิตประจำวัน มีจำนวนมากถึง 200 คัน จึงเดินทางเข้าตรวจสอบที่ พบชาวบ้านส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำสวนยางพารา สวนผลไม้ ซึ่งแทบทุกบ้านมีรถจี๊ปไว้ใช้งาน โดยจอดรถจี๊ปไว้ภายในบ้านทุกหลัง
ภาพจาก มติชนออนไลน์
จากการสอบถาม นายอนันต์พงษ์ โฆษิตโภคินัน กำนันตำบลตาชี กล่าวว่า ย้อนหลังไปเมื่อ 70-80 ปีที่ผ่านมา การคมนาคมเข้าออกหมู่บ้านไปยังพื้นที่เกษตร ทั้งสวนยางพารา และสวนผลไม้ ยังยากลำบาก เนื่องจากตำบลตาชีเป็นพื้นที่ภูเขาล้อมรอบ ชาวบ้านเป็นเกษตรกร จึงหาซื้อรถจี๊ปมาใช้งาน เนื่องจากสามารถขับเคลื่อน 4 ล้อได้ เพื่อใช้ลำเลียงสินค้าทางการเกษตร ทั้งยางพารา ทุเรียน และพืชทางการเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่นั้เป็นรถจี๊ปหลังสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
ภาพจาก มติชนออนไลน์
นายวิจิต กระเกตุ ชาวบ้าน กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดมา พบรถจี๊ปใน ต.ตาชี แล้ว เชื่อว่าหลังสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนแรกๆ มีอยู่เพียงไม่กี่คัน แต่ปัจจุบันนี้คาดว่ามีจำนวนไม่ต่ำกว่า 100-200 คัน ซึ่งส่วนใหญ่ชาว ต.ตาชี จะไปหาซื้อรถจี๊ปมาจาก อ.ศรีสาคร อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ซึ่งเมื่อก่อนมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่เมื่อเวลาล่วงเลยไปความจำเป็นในการใช้รถจี๊ปในพื้นที่ลดลง ชาวบ้านจึงได้ซื้อมาใช้เพื่อความสะดวกทางการเกษตร
ภาพจาก มติชนออนไลน์
นายพสิษฐ์ ศรีสุข นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ตาชี เปิดเผยว่า ใน ต.ตาชี มีรถจี๊ปที่ยังคงใช้งานได้ และใช้งานไม่ได้ประมาณเกือบ 200 คัน หากใครเดินทางเข้ามาใน ต.ตาชี จะเห็นว่าแทบทุกบ้านจะมีรถจี๊ปจอดอยู่ในบ้าน และชาวบ้านเองยังคงใช้รถจี๊ปเป็นหลักในการดำเนินชีวิต และประกอบอาชีพทางการเกษตร ทำให้เกิกการรวมกลุ่มอนุรักษ์รถจี๊ปเพื่อเป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ และเพื่อให้เยาวชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ความเป็นมาสมัยรุ่นพ่อ รุ่นปู่ 70-80 ปีที่ผ่านมา
นายจรัส ธาตน้อย ประชาชนอีกราย กล่าวว่า รถจิ๊บ ใน ต.ตาชี ถือเป็นเอกลักษณ์ประจำพื้นที่ เมื่อมีงานประจำจังหวัด หรือ งานประจำอำเภอ กลุ่มอนุรักษ์รถจิ๊บจะรวมตัวกันนำรถจิ๊ปโบราณเข้าร่วมกิจกรรมของจังหวัด เพื่อให้ผู้พบเห็นรับรู้ว่า เป็นรถจิ๊ปจากพื้นที่ ต.ตาชี อ.ยะหา จ.ยะลา
ภาพจาก ซีรี่ส์วิถีคน
หรือแม้แต่คุณยายเหี้ยง การะเกตุ ชาวตำบลตาชี อ.ยะหา จ.ยะลา ในวัย 90 ปี แต่คุณยายก็ยังขับรถจี๊ปอย่างคล่องแคล่วไปทำสวนยางพารา ไม่ต่างอะไรกับ "คาวเกิร์ล" ในหนังฮอลลีวูด
รถจี๊ปคันนี้ต้องบอกว่าเป็น "จี๊ปคู่ใจ" เพราะขับมาตั้งแต่คุณยายอายุ 20 ปี หรือกว่า 66 ปีมาแล้ว แต่กาลเวลาดูจะไม่ได้มีอิทธิพลเหนือทั้งคุณยายและรถจี๊ปคู่กาย เพราะคุณยายยังแข็งแรง เดินเหินคล่องแคล่ว แถมยังทำสวน ยกของหนักได้ไม่ต่างจากคนหนุ่มสาว เช่นเดียวกับรถจี๊ปคันเก่า ที่เป็นดั่งเพื่อนผู้ซื่อสัตย์ บิดกุญแจสตาร์ทได้ก็เครื่องติดปั๊บ ไม่เคยเกเรให้ต้องปวดหัว ร้อนใจ
เนื้อหาข่าวจาก
- มติชนออนไลน์
- สำนักข่าวอิศรา