ในช่วงปี พ.ศ. 2566 - 2567 ตลาดรถยนต์มือสองในประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก โดยมีจำนวนรถยนต์ที่ถูกสถาบันการเงินยึดประมาณ 250,000 - 300,000 คัน ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจากปีก่อนหน้าอยู่ประมาณ 150,000 - 180,000 คัน เป็นปัจจัยที่ทำให้ปริมาณรถมือสองล้นตลาด ผู้ประกอบกิจการรถยนต์มือสองจำเป็นต้องกดราคาขายให้ต่ำลง บางแห่งอาจถึงขั้นยอมขาดทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องทางธุรกิจ
ขณะที่รถกระบะซึ่งมีสัดส่วนยอดขายมากที่สุดในไทยก็ได้รับผลกระทบอย่างมากเช่นกัน เนื่องจากลูกค้ากลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากการขอสินเชื่อ โดยตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 สถาบันการเงินเริ่มเข้มงวดนโยบายสินเชื่อ ทำให้คนซื้อรถกระบะเข้าถึงสินเชื่อยากขึ้น เนื่องจากปัญหาการพิสูจน์รายได้ ทำให้สัดส่วนรถกระบะมือสองที่ขายได้ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 ลดลง 7% เหลือ 19% ของจำนวนประกาศทั้งหมด เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ในทางกลับกัน ลูกค้าของกลุ่มรถยนต์อเนกประสงค์ (SUV, MPV) มักเป็นคนซื้อรถเพื่อสนองความต้องการการเดินทางของครอบครัว มีรายได้ที่มั่นคง และอนุมัติสินเชื่อได้ง่ายกว่ารถกระบะ ทำให้สัดส่วนการขายรถยนต์อเนกประสงค์ (SUV, MPV) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2567
แม้ว่าตลาดรถยนต์มือสองในไทยกำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุด แต่ก็ยังมีสัญญาณบวกในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ข้อมูลจากธนาคารโลก World Bank แสดงให้เห็นว่า GDP ของไทยในปี 2567 จะเติบโต 2.4% ซึ่งสูงกว่า GDP ในปีที่ผ่านมาที่ 1.9%
ในภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวนั้น สถาบันการเงินมักจะผ่อนปรนเงื่อนไขการให้สินเชื่อและพยายามลดอัตราหนี้เสีย ส่งผลให้ผู้ซื้อรถยนต์มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ราคาขายรถยนต์ที่ลดลงในช่วงนี้ ยังช่วยลดต้นทุนสำหรับผู้ซื้ออีกด้วย อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าราคารถยนต์มือสองจะปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปี 2568
โดย 10 อันดับรถมือสองที่มีการค้นหามากที่สุด 6 เดือนแรกปี 2567 ดังนี้
1.Isuzu D-Max
2.Honda Civic
3.Toyota Hilux Revo
4.Toyota Camry
5.Toyota Fortuner
6.Honda CR-V
7.Ford Ranger
8.Toyota Corolla Altis
9.Honda City
10.Honda Accord