ส.อ.ท เฉือนเป้ารถยนต์ทิ้ง 2 แสนคัน ชี้ปี 67 มากสุด 1.7 ล้านคัน
ส.อ.ท เฉือนเป้ารถยนต์ทิ้ง 2 แสนคัน ชี้ปี 67 มากสุด 1.7 ล้านคัน

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปี 2567 ได้ปรับประมาณการการผลิตรถยนต์ใหม่อยู่ที่ 1,700,000 คัน จาก 1,900,000 คัน ลดลง 200,000 คัน โดยเป็นการปรับเป้าเฉพาะยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลงเหลือ 550,000 คัน จากเดิม 750,000 คัน ส่วนรถจักรยานยนต์เท่าเดิมทั้งผลิตเพื่อส่งออก 42,000 คัน และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 1,700,000 คัน เนื่องจากมีปัจจัยลบเรื่องหนี้ครัวเรือนสูงถึง 90% ของจีดีพีรวม รายได้ครัวเรือนยังต่ำจากเศรษฐกิจที่เติบโตต่ำ การลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังลดลงมาหลายเดือนแล้ว คนงานมีรายได้ลดลง ประชาชนระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ ที่มีการปฏิเสธสินเชื่ออยู่ประมาณ 50% ยอดขายรถลด26%

นายสุรพงษ์กล่าวว่า ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศเดือนมิถุนายน 2567 อยู่ที่ 47,662 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 26.04% เพราะรถกระบะที่ขายลดลงถึง 36.44% และรถอเนกประสงค์ที่ดัดแปลงมาจากรถกระบะ (พีพีวี) ลดลง 49.98% จากหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงและเศรษฐกิจของประเทศเติบโตในอัตราต่ำ สถาบันการเงินจึงระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อโดยเฉพาะรถกระบะและรถบรรทุก ส่งผลให้ 6 เดือนของปี 2567 (มกราคม-มิถุนายน) มียอดขายรถยนต์ในประเทศ 308,027 คัน ลดลงจากปีก่อน 24.16%ส่งออกรถครึ่งปีหลังยังดี


นายสุรพงษ์กล่าวว่า คาดการณ์ว่าตลาดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ในส่วนของการส่งออกยังคงดีอยู่ สะท้อนจากประเทศคู่ค้า อาทิ ออสเตรเลีย ที่ปีนี้น่าจะมียอดขายเกิน 1 ล้านคัน กลับไปสู่ภาวะปกติก่อนเกิดโควิด เมื่อปี 2562 แล้ว รวมถึงสหรัฐ ที่มียอดขายเพิ่มขึ้น และยุโรปที่ตัวเลขยอดขายเติบโตได้ถึง 2 หลัก ส่วนที่ทรุดลงไปบ้าง มีอินโดนีเซีย เวียดนาม และญี่ปุ่น ซึ่งก็ยังหวังว่าประเทศคู่ค้าของไทยที่มีสัดส่วนส่งออกจำนวนมาก อย่างออสเตรเลีย ที่มีสัดส่วนถึง 30% แทนที่ตลาดเอเชียที่สัดส่วนลดลงไปเหลือ 27-28% และตะวันออกกลาง ที่มีสัดส่วนดูดีอยู่ประมาณ 18-19% ทั้ง 3 ตลาดนี้มีสัดส่วน 3 ใน 4 ของตลาดส่งออกแล้ว ซึ่งภาพยังดูดีอยู่

“ยอดขายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในประเทศครึ่งหลังปีนี้ จะดีขึ้นจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 และ 2568 ทำให้มีเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นของรัฐบาล โดยความกังวลเป็นเรื่องสงครามอิสราเอลและฮามาส ที่หากมีการบานปลาย จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไปตะวันออกกลางของไทยได้ แต่ประเมินแล้วหากยังคงภาพอยู่ในระดับปัจจุบันนี้ คาดว่าเราจะเดินหน้าสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้ ส่วนสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่หากภาพยังเป็นแบบนี้ ซึ่งมีความต้องการเจรจากันมากขึ้น น่าจะดี รวมถึงต้องติดตามผลการเลือกตั้งของสหรัฐด้วย” นายสุรพงษ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม คาดว่ายอดขายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของครึ่งปีหลังปี 2567 จะดีขึ้นจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 และ 2568 ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นของรัฐบาล

Share:
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง