ความก้าวหน้าครั้งสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการบำรุงรักษาถนน ที่ในอนาคต อาจไม่ต้องรอช่างมาซ่อมอีกต่อไป เมื่อหุ่นยนต์ซ่อมถนนครั้งแรกของโลก กำลังมาทดสอบใช้งานจริงบนถนนครั้งแรกในเมือง Hertfordshire (เฮิร์ตฟอร์ดเชียร์) ในสหราชอาณาจักร
สำหรับหุ่นยนต์ซ่อมถนนนี้ พัฒนาขึ้นโดยบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี Robotiz3d และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล โดยผลิตภัณฑ์อัตโนมัตินี้ กำลังก้าวข้ามขอบเขตของห้องปฏิบัติการเป็นครั้งแรก
โดยหุ่นยนต์ซ่อมถนนนี้เรียกว่า Termed Autonomous Road Repair System (ARRES) ออกแบบมาให้ทำงานผ่านติดตั้งระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อตรวจจับและวิเคราะห์รอยแตกร้าวของถนนและหลุมบ่อ
เมื่อพบพิกัดเจอแล้ว หุ่นยนต์ก็จะเติมสารซ่อมบำรุงโดยอัตโนมัติ ป้องกันไม่ให้น้ำซึมเข้าไป หรือรถตกหลุม ก่อนจะเกลื่ยพื้นให้เรียบเองด้วย แต่ถ้าหากเป็นหลุมที่ลึกมาก หุ่นยนต์จะระบุตำแหน่ง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เป็นคนมาซ่อมแซมต่อไป
นวัตกรรมนี้รับประกันเวลาและต้นทุนที่ประหยัดได้อย่างมาก เพราะทำงานได้ทั้งวันทั้งคืน และทุกวัน ไม่มีวันหยุด ในขณะเดียวกันก็ลดการรบกวนพื้นที่บนถนนอีกด้วย ทำงานได้ทั้งแบบอัตโนมัติและควบคุมผ่านรีโมท คุณสมบัติการเข้าถึงได้ในระยะไกลนี้ช่วยให้ติดตามและดำเนินการจากผู้ควบคุมที่อาจจะอยู่ในห้องบังคับการได้แบบทันที
สำหรับแนวคิดนี้ เริ่มต้นจากโครงการวิจัยที่มหาวิทยาลัยลิเวอร์พูลในปี 2016 ซึ่งใน 4 ปีต่อมา นักวิจัยของมหาวิทยาลัยได้ก่อตั้ง Robotiz3d Ltd ซึ่งเป็นบริษัทแยกส่วนแห่งใหม่ ที่ได้รับมอบหมายให้พัฒนาเทคโนโลยีการบำรุงรักษาถนนที่เป็นนวัตกรรมใหม่
นอกจากนี้ ในปี 2023 บริษัทก็ได้พัฒนาเทคโนโลยีอีกระบบที่ชื่อว่า ARRES Eye เป็นระบบในการวิเคราะห์และสำรวจสภาพพื้นผิวถนนอัตโนมัติ โดยไม่ต้องใช้มนุษย์ควบคุม
อีกทั้งยังรวบรวมข้อมูลขณะที่วิ่งไปด้วย ซึ่งทำความเร็วได้สูงสุดถึง 96 กม./ชม. และจะสแกนสภาพถนนทีละเลน ด้วยระบบที่เรียกว่า Field of View หรือ FoV โดยสแกนได้กว้างในพื้นที่ครอบคลุมถึง 3 เมตร ซึ่งระบบยังสามารถทำงานได้ทั้งกลางวันและกลางคืน รวมไปถึงติดตามและจัดการการดำเนินงานได้แบบเรียลไทม์
ปัญหาถนนมีหลุมบ่อในสหราชอาณาจักร ส่งผลให้รถยนต์เสียหายและในแต่ละปีมีค่าใช้จ่ายในซ่อมถนนสูงมาก Robotiz3d คาดการณ์ว่ารัฐบาลต้องเสียเงินจากการบำรุงรักษาถนนประมาณ 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 78,000 ล้านบาทต่อปี
ซึ่งหุ่นยนต์นี้สามารถลดต้นทุนได้ถึง 90% เมื่อเทียบกับวิธีบำรุงรักษาถนนแบบเดิม ๆ และเพิ่มความเร็วการซ่อมแซมได้ถึง 70% อีกทั้งยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่า 3 เท่า เพราะขับเคลื่อนการทำงานด้วยพลังงานไฟฟ้า
แหล่งที่มาจาก
- InterestingEngineering