5 วิธีตรวจเช็กรถเร่งด่วน ก่อนขับรถเที่ยวช่วงปีใหม่
5 วิธีตรวจเช็กรถเร่งด่วน ก่อนขับรถเที่ยวช่วงปีใหม่

ช่วงนี้หลายๆ คน ต่างขับรถออกเดินทางในช่วงเทศกาลปีใหม่กันแล้ว ซึ่งใครที่ยังไม่ได้เดินทาง การเตรียมตัวให้พร้อมทั้งคนและรถ จัดว่าเป็นสิ่งสำคัญมากเช่นกัน หากเกิดปัญหารถเสียระหว่างทางขึ้นมา คุณอาจจะเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น และทำให้เพื่อนร่วมทางต้องเดือดร้อนไปด้วยขึ้นมาอีก ...

5 วิธีตรวจเช็กรถเร่งด่วน ก่อนขับรถเที่ยวช่วงปีใหม่

ที่สำคัญ การขับขี่รถต้องมีสติ ขับขี่ด้วยความปลอดภัย เมาไม่ขับ ง่วงไม่ขับ เหนื่อยหาที่พัก ยืดเส้นยืดสาย นอนหลับ ทานกาแฟ หรือทานของว่าง ให้ค่อยหายง่วงหายเพลียแล้วค่อยขับรถไปต่อ เพื่อความปลอดภัยของตัวเองและเพื่อนร่วมทาง

Siamcar 5 วิธีตรวจเช็กรถเร่งด่วน ก่อนขับรถเที่ยวช่วงปีใหม่กันครับ ...

5 วิธีตรวจเช็กรถเร่งด่วน ก่อนขับรถเที่ยวช่วงปีใหม่

1. เช็กระบบไฟต่างๆ

ระบบไฟ ถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในการขับรถ โดยไฟส่องสว่างที่ต้องตรวจเช็คก่อนเดินทาง นั่นคือ ชุดไฟหน้า (ไฟสูง, ไฟต่ำ, ไฟหรี่, ไฟเลี้ยวทั้งสองข้าง) ทั้งแบบธรรมดาและแบบ LED หรือไฟโปรเจคเตอร์, ไฟตัดหมอก, ไฟเบรก, แถบไฟ LED หรือไฟถอยหลัง หากพบว่ามีหลอดใดไม่สว่าง สามารถเปลี่ยนได้ด้วยตัวเอง โดยดูวิธีการเปลี่ยนจากคู่มือของรถแต่ละรุ่น

แต่ถ้าทำเองไม่เห็น ควรให้ช่างฝีมือที่ไว้ใจได้ เป็นผู้เปลี่ยนให้ก็ดีเช่นกัน

5 วิธีตรวจเช็กรถเร่งด่วน ก่อนขับรถเที่ยวช่วงปีใหม่

2. เช็กของเหลวของรถ

ระบบของเหลวต่างๆ ในเครื่องยนต์ เช็คง่ายๆ ไม่ยาก อาทิ น้ำมันเครื่อง, น้ำมันเกียร์, น้ำมันเบรก, น้ำมันพวงมาลัยเพาเวอร์, น้ำมันคลัทช์, น้ำหล่อเย็นในหม้อน้ำ รวมถึงน้ำมันเฟืองท้าย ฯลฯ ต้องอยู่ในระดับปกติ ไม่ล้นหรือพร่องจากค่าหรือขีดที่กำหนด และควรเปลี่ยนถ่ายตามระยะ หากมีปริมาณที่ต่ำกว่า Min ก็ควรเติมเพิ่ม หรือหากสีดูคล้ำขึ้น ก็ควรเปลี่ยนถ่ายครับ

แต่ถ้าใครที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือรถ EV ก็ตัดจุดนี้ออกไปได้เกือบหมดเลยครับ อาจจะตรวจเช็กระบบน้ำหล่อเย็นของชุดแบตเตอรี่หน่อยก็ได้

5 วิธีตรวจเช็กรถเร่งด่วน ก่อนขับรถเที่ยวช่วงปีใหม่

3. เช็กยางและช่วงล่าง

ตรวจเช็กสภาพยาง ว่ามีรอยปริหรือแตกลายงาหรือไม่ หากมีรอยปริแตกเกิดขึ้นที่แก้มยาง ควรรีบเปลี่ยนยาง เพราะเสี่ยงต่อยางระเบิดได้ง่ายเวลาวิ่งด้วยความเร็วสูง และวัดระดับลมยาง ที่ควรได้มาตรฐานของรถแต่ละรุ่น โดยดูจากสติกเกอร์แนะนำแรงดันลมยางบริเวณเสาด้านคนขับ หากมีผู้โดยสารเต็มคัน ต้องเพิ่มแรงดันลมยางล้อหลังตามที่ระบุด้วยเช่นกัน

ในส่วนของช่วงล่าง ใช้การฟังเสียงว่ามีเสียงกุกๆ กักๆ เวลาขับรถหรือไม่ ส่วนการเช็กโช๊คอัพว่ายังทำงานดีอยู่หรือไม่ ใช้วิธีเอามือกดลงไปที่มุมของช่วงล่างรถทั้ง 4 ด้าน จากนั้นให้ดูการยกตัวของรถ หากตัวรถยกขึ้นครั้งเดียวแล้วหยุด แสดงว่าโช๊คอัพยังทำงานดี แต่หากมีอาการเด้งขึ้นลง แสดงว่าโช๊คอัพหมดสภาพแล้ว เวลาขับ จะทำให้ยางไม่สัมผัสกับพื้นถนนนัก ควรเปลี่ยนใหม่

ส่วนถ้าใครใช้รถกระบะ หรือรถอเนกประสงค์แบบ PPV ลองก้มไปดูเฟืองท้ายด้านหลังดู ว่าน้ำมันเฟืองท้ายพร่องไปหรือเปล่า หรือว่าลูกปีนหลวม ลูกปีนเป็นตามด เฟืองห่างหรือแตกหัก จนเกิดเสียงเฟืองท้ายหอน ซึ่งขั้นตอนนี้อาจต้องใช้แม่แรงช่วยยกท้ายรถขึ้น ในการตรวจสอบ

5 วิธีตรวจเช็กรถเร่งด่วน ก่อนขับรถเที่ยวช่วงปีใหม่

4. เช็กระบบเบรก

หากรู้สึกมีเสียงดังเกิดขึ้นขณะเหยียบเบรก แสดงว่าผ้าเบรกใกล้หมดหรือหมดแล้ว ควรรีบไปเปลี่ยน ก่อนที่จานเบรกจะได้รับความเสียหาย จากการโดนเหล็กกับเหล็กสีกันจนจานเบรกเป็นรอย ซึ่งอาจจะต้องเจียรจานเบรก หรือเปลี่ยนจานเบรกใหม่

5 วิธีตรวจเช็กรถเร่งด่วน ก่อนขับรถเที่ยวช่วงปีใหม่

5. เช็กเครื่องยนต์

เช็คสภาพเครื่องยนต์ได้ง่ายๆ โดยฟังเสียงผิดปกติของเครื่องยนต์ เครื่องยนต์สั่น เดินไม่เรียบ มีอาการสะดุด รอบตก หรือเร่งไม่ขึ้น มีควันขาวหรือควันดำออกจากท่อไอเสีย หรือตามซีลรอยต่อในเครื่อง (เช่น ซีลหน้าเครื่อง ซีลท้ายเครื่อง) มีการรั่วซึมของน้ำ หรือน้ำมันเครื่องหรือไม่

เกียร์มีอาการกระตุก สะดุด กระชากตอนออกตัว หรือเดินหน้าถอยหลังแล้วรถไม่ไป หรือต้องรถนานกว่าจะออกตัวได้ ทางที่ดี นำรถไปให้ศูนย์บริการตรวจเช็คฟรีที่มีอยู่หลายๆ หน่วยงาน เพื่อไม่ต้องไปกินข้าวลิงกลางทาง

สุดท้ายสภาพร่างกายของคนขับต้องพร้อมคือสิ่งที่สำคัญที่สุด โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะนำประชาชน ที่ต้องเดินทางไกลในช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยเฉพาะผู้ที่นั่งรถเป็นเวลานานๆ อาจมีอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นได้

5 วิธีตรวจเช็กรถเร่งด่วน ก่อนขับรถเที่ยวช่วงปีใหม่

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ขอแนะนำ 4 ยาสมุนไพรที่จำเป็น พกติดรถ ติดตัว ช่วงเดินทางไกล ได้แก่ 

- ยาฟ้าทะลายโจร สรรพคุณ ช่วยบรรเทาอาการโรคหวัด เจ็บคอ รับประทานครั้งละ 1500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง ทั้งนี้ยังช่วยบรรเทาอาการท้องเสียชนิดไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ (อุจจาระไม่เป็นมูกหรือ มีเลือดปน) เช่น ทานอาหารสกปรก โดยให้รับประทาน ครั้งละ 0.5 - 2 กรัม วันละ 4 ครั้ง และสามารถใช้กับผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่มีความรุนแรงน้อย เพื่อลดการเกิดโรคที่รุนแรง ให้รับประทานยาฟ้าทะลายโจร ที่มีสาร Andrographolide ขนาด 180 มิลลิกรัม /วัน รับประทานติดต่อกันไม่เกิน 5 วัน

- ยาแก้ไอผสมมะขามป้อม สรรพคุณ บรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ จิบเมื่อมีอาการไอ โดยห้ามใช้กับผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ 

- ยาหอมอินทจักร์ สรรพคุณ บรรเทาอาการ จุกเสียด แน่นเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ช่วยให้ร่างกายสดชื่นตื่นตัว การใช้ยาหอมให้ได้ผลดี ควรนำมาละลายน้ำอุ่นรับประทานขณะอุ่นๆ เพราะการออกฤทธิ์ของน้ำมันหอมระเหยที่มีในยาหอมจะช่วยให้ยาออกฤทธิ์ได้เร็วขึ้น ซึ่งจะออกฤทธิ์ผ่านระบบประสาทรับกลิ่น และการดูดซึมของกระเพาะอาหาร

- ยาดมสมุนไพร สรรพคุณ บรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ  ทำให้สดชื่น และ ผ่อนคลาย 

ยาสมุนไพรที่แนะนำทั้งยาฟ้าทะลายโจร ยาแก้ไอผสมมะขามป้อม ยาหอมอินทจักร์ เป็นยาสมุนไพร ในบัญชียาหลักแห่งชาติ สามารถหาซื้อได้ตามร้ายขายยา ร้านสะดวกซื้อ และสามารถเบิกจ่ายยาดังกล่าวได้ตามสิทธิ์ในโรงพยาบาลของรัฐ ทั่วไป

5 วิธีตรวจเช็กรถเร่งด่วน ก่อนขับรถเที่ยวช่วงปีใหม่

และสำหรับ ผู้ขับขี่ยานพาหนะเป็นเวลานานๆ มักมีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย จึงขอแนะนำ 2 ท่าการบริหารร่างกายแบบไทย “ฤาษีดัดตน” คือ ท่าชูหัตถ์วาดหลัง เป็นท่าที่ช่วยบริหารไหล่ คอ อก ท้อง และ กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตที่ศีรษะและแขน 

การบริหารร่างกายให้เริ่มจากนำมือทั้งสองข้างประสานกันที่ระดับลิ้นปี่ สูดลมหายใจให้ลึกที่สุดค่อยๆชูมือขึ้นเหนือศีรษะให้แขนแนบหู กลั้นลมหายใจไว้สักครู่และดัดมือที่ประสานให้หงายขึ้น ผ่อนลมหายใจออกค่อยๆ วาดมือไปทางข้างหลังกำหมัดวางไว้ที่บั้นเอว แล้วใช้กำปั้นกดบั้นเอวทั้งสองข้างพร้อมสูดลมหายใจลึกที่สุด กลั้นลมหายใจสักครู่พร้อมกดเน้น และ ผ่อนลมหายใจออก คลายการกดกำปั้น ไล่กดไปที่กลางหลังจนกำปั้นชิดกันกลางบั้นเอว 

5 วิธีตรวจเช็กรถเร่งด่วน ก่อนขับรถเที่ยวช่วงปีใหม่

ท่าแก้เกียจ ช่วยบริหารส่วนแขนการบริหารร่างกายเริ่มจากท่าเตรียม นั่งขัดสมาธิ ยกมือขึ้นและกำมือประสานกันไว้ระดับลิ้นปี่ สูดลมหายใจเข้าให้ลึกที่สุด พร้อมเหยียดแขนดัดให้ฝ่ามือยื่นไปทางด้านซ้ายให้มากที่สุด ลำตัวตรงหน้าตรง แขนตึง กลั้นลมหายใจไว้สักครู่ จากนั้นผ่อนลมหายใจออก พร้อมกับงอแขนทั้งสองข้างกลับมาอยู่ในท่าเตรียม ทำซ้ำเช่นเดิม แต่เปลี่ยนเป็นเหยียดแขนด้านขวา ด้านหน้า และ เหยียดแขนเหนือศีรษะ ตามลำดับ แล้วพักแขนที่ศีรษะ แล้วกลับสู่ท่าเตรียม 

การบริหารร่างกายทั้ง 2 ท่านี้ สามารถช่วยแก้อาการปวดเมื่อยร่างกายของผู้ขับขี่ยานพาหนะได้ชะงัดเช่นกันครับ

แหล่งที่มาบางส่วนจาก
- Carro
- กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง