นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ซึ่งมีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นประธาน
มีมติเห็นชอบจ่ายเบี้ยเลี้ยงเดินทาง เบี้ยเลี้ยงทำขบวน ให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจที่เข้าปฏิบัติหน้าที่รักษาดูแลความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้บริการรถไฟ จำนวน 34 ล้านบาท ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2566 - ต.ค. 2567 ภายหลังจากกองบังคับการตำรวจรถไฟถูกยุบตามพระราชบัญญัติ (พรบ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565
ขณะเดียวกันสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้จัดเจ้าพนักงานตำรวจเข้าปฏิบัติหน้าที่ตามอัตราเดิมประมาณ 200-300 นาย โดยการจ่ายเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวจะจ่ายตามจริง แต่ไม่เกินวงเงิน 34 ล้านบาท
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมอบให้ รฟท. พิจารณาจัดหามาตรการเสริมเรื่องการดูแลความปลอดภัยแก่ผู้โดยสารให้มากขึ้นด้วย เพื่อให้มีความปลอดภัยมากที่สุด อาทิ ติดตั้งกล้อง CCTV ตามพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะบนขบวนรถไฟให้มากขึ้น และการติดกล้องที่หน้าอกของพนักงานตรวจตั๋วโดยสาร เป็นต้น
คาดว่าจะเริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างกล้อง CCTV และกล้องติดหน้าอกพนักงานตรวจตั๋ว ได้ในปี 2567 ซึ่งแม้ รฟท. ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่เรื่องความปลอดภัยเป็นนโยบายที่ รฟท.ให้ความสำคัญที่สุด จะไม่นำเรื่องขาดทุนมาเป็นอุปสรรค
นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาได้มีการยุบกองบังคับการตำรวจรถไฟ (บก.รฟ.) ทาง รฟท. ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในเขตระบบรถไฟ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2565 กับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) เพื่อส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาดูแลความปลอดภัย ป้องกัน และปราบปรามปัญหาอาชญากรรมในเขตระบบรถไฟทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
โดย บช.ก. จะเข้ามาช่วยรับผิดชอบดูแลสถานีรถไฟ บนขบวนรถไฟ และพื้นที่ต่างๆ ของ รฟท. ในเขตกรุงเทพมหานคร
ส่วนกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 จะเข้ามาดูแลรับผิดชอบในพื้นที่ต่างจังหวัดทั่วประเทศ จึงขอให้ผู้โดยสารมั่นใจ และอุ่นใจเรื่องความปลอดภัยในการใช้บริการรถไฟ ทั้งภายในขบวนรถทุกขบวน และสถานีรถไฟทุกแห่งทั่วประเทศได้ โดยยืนยันว่าจะมีการดูแลที่ได้มาตรฐานเหมือนเดิม
ทั้งนี้ เจ้าพนักงานตำรวจที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่รักษาดูแลความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้บริการรถไฟนั้น ทาง บช.ก และกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 จะเป็นผู้จัดสรร และจัดแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบว่าใครจะรับผิดชอบขบวนใด และพื้นที่ใด
ซึ่งหลังจากที่ บก.รฟ. ได้ถูกยุติการปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2566 ทางเจ้าพนักงานตำรวจก็ได้เข้ามาปฏิบัติทดแทนทันที ไม่ให้มีช่องว่าง และขาดตอนเรื่องความไม่ปลอดภัยในการใช้บริการบนขบวนรถไฟ และพื้นที่ต่างๆ อย่างไรก็ตามวงเงินค่าเบี้ยเลี้ยงฯ 34 ล้านบาท เป็นวงเงินเดิมที่ รฟท. เคยจ่ายให้กับตำรวจรถไฟในแต่ละปีอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม รฟท. จะร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสนับสนุน แลกเปลี่ยน วางแผน ป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในเขตพื้นที่ของ รฟท. ด้วย ทั้งในเรื่องของข้อมูลคนร้าย ผู้ก่อเหตุ ผู้ต้องสงสัย ข้อมูลระบบกล้องวงจรปิด เพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในเขตพื้นที่รถไฟทุกรูปแบบ ตลอดจนช่วยป้องกันปัญหาการโจรกรรมทรัพย์สินของ รฟท. ด้วย
ขอบคุณภาพจาก
- สถานีตำรวจรถไฟนพวงศ์
- สถานีตำรวจรถไฟหัวหิน