Toyota (โตโยต้า) โชว์เทคโนโลยี Gigacasting ที่หลายอย่างเกิดขึ้นจากการนำเทคโนโลยี "Gigapresses" ของ Tesla (เทสลา) มาใช้ ซึ่งสามารถสร้างชิ้นส่วนที่ใหญ่ขึ้น และทำให้รถยนต์มีชิ้นส่วนน้อยลง เมื่อเร็วๆ นี้ โตโยต้าเรียกโมเดล Tesla Model Y ซึ่งใช้เทคโนโลยีนี้ว่า "งานศิลปะ" และขณะนี้ Toyota เองได้แสดงผลงานขนาดใหญ่ของตัวเองในญี่ปุ่นแล้ว
โดยเทคโนโลยีนี้ เป็นการขึ้นรูปชิ้นงานอะลูมิเนียมผ่านการหล่อด้วยแรงดันสูง ซึ่งช่วยลดทั้งต้นทุนและเวลาในการผลิต เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่จะขายรถยนต์ไฟฟ้าได้ 3.5 ล้านคันต่อปี ภายในปี 2030
ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีนี้ Tesla อาจได้รับประโยชน์จากการผลิตได้เพียงไม่กี่รุ่น แต่ Kazuaki Shingo ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการผลิตของ Toyota กล่าวว่า "เป็นการเรียนรู้ทางเลือกใหม่ๆ จากผู้ผลิตรถ EV ที่เชี่ยวชาญเพื่อรับมือกับความท้าทาย" ในการผลิตรถยนต์เหล่านี้
ในระหว่างการสาธิตที่โรงงาน Myochi ในญี่ปุ่น Toyota ได้จัดแสดงขั้นตอนการเทอะลูมิเนียมหลอมเหลวลงในแม่พิมพ์ ที่ทำให้อลูมิเนียมเย็นตัวลงจากอุณหภูมิ 700 องศา เหลือแค่ประมาณ 250 องศาเซลเซียส ส่งผลให้เป็นชิ้นเดียวแบบไร้รอยต่อ สำหรับใช้ประกอบขึ้นเป็นชิ้นส่วนหลัก 1 ใน 3 ของโครงสร้างตัวถัง
ตามรายงานของ Nikkei ในกระบวนการผลิตรถยนต์ในปัจจุบัน การผลิตรถแบบเดียวกันจะต้องใช้ชิ้นส่วน 86 ชิ้น ใน 33 ขั้นตอน และใช้เวลานานหลายชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ด้วยเครื่องจักร Gigacasting ใหม่นี้ จะใช้เวลาผลิตประมาณ 3 นาที
โดย Toyota ได้สร้างรถต้นแบบจากเทคโนโลยี Gigacasting คันแรกในเดือนกันยายน 2022 และได้ปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้ปรับใช้ให้เข้ากับรถรุ่นต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น
บริษัทยังคงตั้งเป้านำเทคโนโลยีใหม่นี้มาใช้ให้เกิดผลผลิตที่สูงขึ้น 20% เมื่อเทียบกับคู่แข่ง และเทคโนโลยีใหม่นี้จะถูกนำไปใช้ในการผลิตส่วนหน้า และด้านหลังของรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ซึ่งมีกำหนดเปิดตัวในปี 2026
นอกเหนือจากเทคโนโลยีการหล่อแบบใหม่แล้ว Toyota ยังพยายามบริหารพื้นที่ส่วนที่เหลือของโรงงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าต้องการพื้นที่โรงงานสำหรับผู้ผลิตมากกว่ารถยนต์สันดาปภายใน จึงพยายามลดการใช้สายพานลำเลียงให้เหลือน้อยที่สุดด้วย
แหล่งที่มาจาก
- Carscoops