อาจมาเร็วกว่าที่คิด ‘รถยนต์ไร้คนขับ’ ในยุค ‘ทรัมป์’ ทำให้ ‘จีน’ เร่งเครื่อง
ที่ผ่านมากฎระเบียบที่เข้มงวดของรัฐบาลกลางเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนายานยนต์ไร้คนขับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบริษัทอย่าง Tesla ที่มีเป้าหมายในการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ที่ไม่มีพวงมาลัยหรือแป้นเหยียบเพื่อป้อนตลาด ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงนี้จะเอื้อประโยชน์โดยตรงต่อ "อีลอน มัสก์" ซีอีโอของเทสล่าที่เดิมพันใน “โรโบแท็กซี่” และ “ไซเบอร์แคป” การพัฒนาด้านยานยนต์ไร้คนขับและ AI ซึ่งเป็นผู้บริจาคเงินรายใหญ่ให้แก่ทรัมป์และมีอิทธิพลในวงในของประธานาธิบดี
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ขณะนี้ทีมงานของทรัมป์อยู่ระหว่างสรรหาผู้นำในการพัฒนากรอบการกำกับดูแลรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ซึ่งยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นและยังไม่มีความชัดเจนในรายละเอียดของนโยบาย โดยหนึ่งในผู้ได้รับการพิจารณาให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คือ “เอมิล ไมเคิล” อดีตผู้บริหารอูเบอร์ นอกจากนี้ ยังมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรครีพับลิกันอีกสองราย ได้แก่ แซม เกรฟส์ จากรัฐมิสซูรี และแกเร็ต เกรฟส์ จากรัฐลุยเซียนา
ในปัจจุบัน สำนักงานบริหารความปลอดภัยการจราจรบนทางหลวงแห่งชาติสหรัฐ (NHTSA) อนุญาตให้ผู้ผลิตติดตั้งระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติในรถยนต์ได้ไม่เกิน 2,500 คันต่อปี ภายใต้ข้อยกเว้นพิเศษ แต่ความพยายามทางกฎหมายที่จะเพิ่มจำนวนนี้เป็น 100,000 คันล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่า พร้อมกับยังมีการตรวจสอบด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่องทั้งในส่วนของรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติและระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ รวมถึงฟีเจอร์ Autopilot และ Full Self-Driving ของเทสล่า
แม้สามารถออกกฎระเบียบผ่าน NHTSA เพื่อเปิดทางให้ใช้รถยนต์ไร้คนขับได้ แต่การนำมาใช้อย่างแพร่หลายจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาก่อน ซึ่งปัจจุบันมีร่างกฎหมายที่ได้รับการสนับสนุนจากทั้งสองพรรค แต่อยู่ในขั้นตอนเริ่มต้นเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์ระดับรัฐบาลกลางสำหรับรถยนต์ไร้คนขับ
เกรย์สัน บรูเลต์ ผู้ก่อตั้ง The Road to Autonomy บริษัทที่เชี่ยวชาญด้านข้อมูลและการวิเคราะห์เทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติ ได้ให้ความเห็นว่า อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังต้องการความชัดเจนในเรื่องกฎระเบียบเกี่ยวกับรถยนต์ที่ไม่มีพวงมาลัยและคันเร่ง ซึ่งเป็นรถยนต์ที่ปราศจากอุปกรณ์ควบคุมแบบดั้งเดิมทั้งหมด การขาดความชัดเจนในเรื่องนี้ อาจทำให้เกิดความขัดแย้งและอุปสรรคในการพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ ๆ อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลกลางสามารถออกกฎระเบียบที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมได้ ก็จะช่วยผลักดันให้เกิดการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไร้คนขับ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบเศรษฐกิจ
‘Cruise-Waymo’ ถอดใจ เพราะกฎหมายล่าช้า
เทสล่ากำลังเร่งพัฒนาโรโบแท็กซี่ให้ทันกับคู่แข่งรายสำคัญอย่าง Waymo ของ Alphabet Inc. ที่ได้บุกเบิกบริการเรียกรถไร้คนขับเชิงพาณิชย์ไปแล้ว แต่ปัจจุบัน Waymo และคู่แข่งรายอื่นๆ เช่น Cruise ของ General Motors ยังจำเป็นต้องติดตั้งพวงมาลัยและแป้นเหยียบในรถยนต์ไร้คนขับของตน แม้ว่าจะสามารถขับเคลื่อนได้โดยอัตโนมัติเต็มรูปแบบก็ตาม เพราะข้อกำหนดด้านความปลอดภัยของรัฐและรัฐบาลกลางที่ยังคงอ้างอิงถึงมาตรฐานเดิมที่กำหนดขึ้นก่อนที่เทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับจะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย
แม้ว่าบริษัทต่างๆ จะสามารถยื่นขออนุญาตพิเศษเพื่อทดลองใช้รถยนต์ที่ไม่มีอุปกรณ์ควบคุมบางอย่าง เช่น พวงมาลัยหรือแป้นเหยียบได้ แต่กระบวนการอนุมัตินั้นมักใช้เวลานานและซับซ้อน ตัวอย่างเช่น คำขออนุญาตของ Cruise ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ General Motors เพื่อทดลองใช้รถยนต์ไร้คนขับแบบไม่มีผู้ควบคุม ยังไม่ได้รับการพิจารณาเลยเป็นเวลาถึง 2 ปี ผลจากความล่าช้าในการอนุมัตินี้เองที่ทำให้ General Motors ตัดสินใจยุติโครงการพัฒนารถยนต์ไร้คนขับรุ่น Origin ไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
ความฝันของรถยนต์ไร้คนขับยังคงเป็นสิ่งที่ห่างไกลจากความเป็นจริง หลังจากเกิดเหตุการณ์รถยนต์ไร้คนขับของ Cruise ชนคนเดินเท้าในซานฟรานซิสโก ทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีนี้ต้องหยุดชะงักลงชั่วคราว และ NHTSA ยังได้เข้ามาตรวจสอบข้อบกพร่องของหลายบริษัท รวมถึง Waymo, Amazon และ Tesla อีกด้วย
Cybercab ของเทสล่า
มัสก์ ได้ประกาศแผนการผลิตรถแท็กซี่ไร้คนขับจำนวนมากของเทสล่า โดยมีกำหนดเริ่มในปี 2026 โดยบริษัทได้เปิดตัวต้นแบบรถรุ่น Cybercab และ Robovan เมื่อเดือนที่ผ่านมา
ในช่วงการรายงานผลประกอบการไตรมาสล่าสุดของเทสล่า มัสก์ได้เรียกร้องให้มีกระบวนการอนุมัติระดับรัฐบาลกลางสำหรับยานยนต์ไร้คนขับ โดยระบุว่าจะใช้โอกาสในรัฐบาลทรัมป์เพื่อผลักดันเรื่องนี้
ล่าสุด ทรัมป์ได้แต่งตั้งมัสก์และนักธุรกิจวิเวก รามาสวามี ให้นำทีมแผนกประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาลแห่งใหม่ เพื่อปฏิรูประบบราชการและลดภาระด้านกฎระเบียบและงบประมาณที่มากเกินไป
จีน’ เร่งเครื่องรถยนต์ไร้คนขับ
รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ และ AI กลายเป็นจุดสนใจในงานแสดงรถยนต์กว่างโจวประจำปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ Tesla ประกาศเป้าหมายที่จะเปิดตัวรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติเต็มรูปแบบในประเทศจีนในช่วงต้นปีหน้า
Zeekr แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าพรีเมียมในเครือ Geely ได้สร้างความฮือฮาในการแสดงสินค้าที่กว่างโจว ด้วยการเปิดตัว โซลูชันการขับขี่อัจฉริยะเวอร์ชัน 2.0 ซึ่งมีแผนจะเปิดให้บริการ ระบบนำทางในเมืองอัตโนมัติ ทั่วประเทศจีนภายในสิ้นปีนี้
เฉิน ฉี อดีตหัวหน้าหน่วยงานขับขี่อัตโนมัติของ Huawei ที่ปัจจุบันมาร่วมงานกับ Zeekr ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับการแข่งขันในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติ (FSD) ของ Tesla นั้นเป็นเหมือน "แรงผลักดัน" ที่สำคัญสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายอื่นๆ รวมถึง Zeekr ต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองให้ก้าวทัน และนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น