“Volkswagen” เล็งปิดโรงงานในเยอรมนี 3 แห่ง หวังลดต้นทุน!
“Volkswagen” เล็งปิดโรงงานในเยอรมนี 3 แห่ง หวังลดต้นทุน!

“Volkswagen” เล็งปิดโรงงานในเยอรมนี 3 แห่ง หวังลดต้นทุน!

เมื่อวันที่  28 ต.ค. 67 ที่ผ่านมา กลุ่มพนักงานของ “โฟล์กสวาเกน” (Volkswagen) บริษัทรถยนต์สัญชาติเยอรมัน เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทมีแผนจะปิดโรงงานอย่างน้อย 3 แห่งในเยอรมนี เลิกจ้างพนักงานหลายหมื่นคน และลดขนาดโรงงานที่เหลือในประเทศ

การปิดโรงงานในประเทศเยอรมนีจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 87 ปีของโฟล์กสวาเกน เผยให้เห็นถึงความท้าทายที่ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของเยอรมนีต้องเผชิญ แผนดังกล่าวกำลังเผชิญกับการต่อต้านจากสหภาพแรงงานในประเทศ โดยโฟล์กสวาเกนมีพนักงานมากถึง 295,000 คน ทำให้คาดว่าอาจเกิดการหยุดงานประท้วงในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

โฟล์กสวาเกนอยู่ระหว่างการเจรจากับสหภาพแรงงานเกี่ยวกับแผนการลดต้นทุนและปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจ

ธอร์สเติน โกรการ์ หัวหน้าคณะเจรจาของสหภาพแรงงาน IG Metall กล่าวว่า “หากโฟล์กสวาเกนยืนยันแนวทางที่เลวร้ายในวันที่ 30 ต.ค. คณะกรรมการจะต้องเตรียมรับผลที่ตามมา”

แม้ว่าการหยุดงานประท้วงอาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. แต่ตามข้อตกลงระหว่างสหภาพแรงงานและโฟล์กสวาเกน IG Metall บอกว่า “พนักงานหลายหมื่นคนพร้อมที่จะแสดงความไม่พอใจต่อฝ่ายบริหาร”

ในแถลงการณ์ สภาแรงงานของโฟล์กสวาเกน ซึ่งเป็นตัวแทนของพนักงานและถือหุ้นครึ่งหนึ่งในคณะกรรมการบริหารของบริษัท กล่าวว่า แผนการลดเงินเดือนพนักงาน ซึ่งรวมถึงการลดเงินเดือนพนักงานทั้งหมดลง 10% นั้นรุนแรงกว่าที่คาดไว้และถือเป็นระดับประวัติศาสตร์

ดาเนียลา คาวัลโล ประธานสภาแรงงานกล่าวเสริมว่า “โรงงานโฟล์กสวาเกนในเยอรมนีทั้งหมดได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ ไม่มีโรงงานใดปลอดภัย”

เธอกล่าวว่า โฟล์กสวาเกนมีแผนที่จะย้ายการผลิตบางส่วนไปยังต่างประเทศหรือจ้างบริษัทอื่น และเตือนพนักงานไม่ให้เพิกเฉยต่อข้อเสนอนี้โดยคิดว่าเป็นเพียงกลยุทธ์การเจรจาเท่านั้น

“นี่คือแผนการของกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในเยอรมนีที่จะเริ่มการขายกิจการในประเทศบ้านเกิด” คาวัลโลกล่าว

ก่อนหน้านี้ โฟล์กสวาเกนได้ออกมาเตือนว่าจำเป็นต้องทำการปฏิรูปครั้งใหญ่ เนื่องจากกลุ่มบริษัทกำลังเผชิญกับการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นในประเทศจีน และยอดขายที่ชะลอตัวในพื้นที่อื่น ๆ โดนบริษัทจำหน่ายรถยนต์ในยุโรปลดลง 500,000 คันต่อปีเมื่อเทียบกับระดับก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งเทียบเท่ากับโรงงานผลิตรถยนต์ประมาณ 2 แห่ง

ในวันที่ 28 ต.ค. โฟล์กสวาเกนย้ำถึงสถานการณ์ดังกล่าวอีกครั้ง กุนนาร์ คิเลียน สมาชิกคณะกรรมการทรัพยากรบุคคล กล่าวว่า “ข้อเท็จจริงก็คือ สถานการณ์ดังกล่าวถือว่าร้ายแรง หากไม่มีมาตรการที่ครอบคลุมเพื่อฟื้นคืนขีดความสามารถในการแข่งขัน เราจะไม่สามารถดำเนินการลงทุนที่จำเป็นในอนาคตได้”

ด้าน โทมัส เชเฟอร์ ซีอีโอของ Volkswagen Passenger Cars กล่าวเสริมว่า โรงงานในเยอรมนีของบริษัทไม่มีผลผลิตเพียงพอ และต้นทุนการดำเนินงานของโรงงานสูงกว่างบประมาณที่บริษัทวางไว้ถึง 50% ทำให้โรงงานแต่ละแห่งมีต้นทุนแพงกว่าคู่แข่งถึง 2 เท่า

โฟล์กสวาเกนกล่าวว่า ต้นทุนแรงงานยังสูงเกินไปอย่างมาก และจะเสนอ “ข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม” เพื่อลดค่าใช้จ่ายดังกล่าวเมื่อกลับมาเจรจากับสหภาพแรงงานอีกครั้งในวันที่ 30 ต.ค.


Cr. CNN 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง