ยุโรปเก็บภาษีรถยนต์ไฟฟ้าจีน 35.3% พ่วงผู้ผลิตเยอรมันรับผลกระทบ ย้ำไม่กระทบไทย
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปได้ลงมติเห็นด้วยการเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มเติมสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิต (EV) หรือมีส่วนประกอบจากประเทศจีน ซึ่งสามารถมีอัตราภาษีที่สูงสุดได้ถึง 35.3% ซึ่งการเก็บภาษีนี้มีต้นเหตุจากการที่คณะกรรมาธิการยุโรปเห็นว่ารัฐบาลจีนกำลังบิดเบือนการแข่งขันอย่างเป็นธรรม สนับสนุนผู้ผลิตรถยนต์จีนด้วยเงินทุนและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าให้มีต้นทุนต่ำ
ทั้งนี้ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ผลิตในจีนหรือมีส่วนประกอบที่ผลิตในจีนเมื่อนำเข้ามายังยุโรปจะถูกเรียกเพิ่มภาษีเพิ่มเติม อาทิ Tesla จะถูกเก็บภาษี 7.8% BYD ถูกเก็บภาษี 17% Geely ซึ่งเป็นผู้ผลิต Volvo Polestar และ Smart จะถูกเรียกเก็บภาษี 19.3% ส่วน SAIC ซึ่งเป็นผู้ผลิต MG 4 จะถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมสูงถึง 35.3%
ขณะเดียวกัน นอกจากผู้ผลิตจีนแล้ว ผู้ผลิตประเทศเยอรมันก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน รถชั้นนำของเยอรมนีอย่าง Volkswagen, Mercedes และ BMW ต่างก็ผลิตในจีนเพื่อการส่งออก ดังนั้นจึงถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมเช่นกัน ส่วนผู้ผลิตรายใหญ่ในยุโรปอีกสองรายซึ่งก็คือ Renault จากฝรั่งเศส และ Fiat จากอิตาลีกลับไม่ได้แสดงท่าทีใดๆ เกี่ยวกับการเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม ภาษีศุลกากรเพิ่มเติมส่งผลต่อราคาอย่างไรปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนว่าผู้ผลิตจะส่งต่อต้นทุนภาษีไปยังลูกค้ามากน้อยเพียงใด และผู้ซื้อที่มีศักยภาพก็ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าราคารถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้าจากจีนจะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่
สำหรับอนาคตของรถยนต์ไฟฟ้าจีนในเยอรมนีในปัจจุบันผู้ผลิตจีนมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 1% ในเยอรมนี จากการเป็นผู้นำในด้านยานยนต์ไฟฟ้า บริษัทจากตะวันออกกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นและสร้างความประทับใจด้วยรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่แพง ซึ่งผู้ผลิตเยอรมันหรือยุโรปยังไม่สามารถทำได้
นอกจากนี้ รถยนต์ไฟฟ้าจีนยังทำผลงานได้ดีในการทดสอบรถยนต์สมาคมผู้ใช้รถแห่งเยอรมนี (ADAC) เช่นกัน รถยนต์ไฟฟ้าจากจีนรุ่นปัจจุบัน นั้นได้ลบภาพจำของรถยนต์ราคาถูกที่ล้าสมัยและไม่ปลอดภัย และได้สร้างความประทับใจด้วยความปลอดภัยในระดับสูง ความสะดวกสบายและอุปกรณ์ความปลอดภัยที่ครอบคลุม รวมถึงคุณภาพการผลิตที่ดี
อย่างไรก็ดี จากการสำรวจของ ADAC ผู้ขับขี่เกือบสองในสามมีความมั่นใจที่จะซื้อรถยนต์จากผู้ผลิตในจีนภายในปีข้างหน้า และสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าจีนนั้นมีผู้ขับขี่ถึง 80% ที่มีความมั่นใจ ดังที่สะท้อนให้เห็นตัวเลขการค้า ที่โดยปกติแล้วเยอรมนีจะส่งออกรถยนต์มากกว่านำเข้ารถยนต์จากประเทศจีน แต่จากสถิติล่าสุด ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายน รถยนต์ไฟฟ้านำเข้า 4 ใน 10 คันในเยอรมนีมาจากประเทศจีน อาจจะทำให้เยอรมนีอาจขาดดุลการนำเข้ารถยนต์จากจีนได้
ทั้งนี้ ผู้ผลิตเยอรมันมองว่า การที่คณะกรรมาธิการยุโรปกำลังรณรงค์สนับสนุนเรื่องภาษีศุลกากรเนื่องจากเห็นว่าพฤติกรรมของจีนเป็นภัยคุกคามต่อบริษัทในยุโรป โดยแนวคิดพื้นฐานก็ คือ รถยนต์ไฟฟ้าจากจีนมีราคาลดลงเนื่องจากได้รับการอุดหนุน ควรได้รับการชดเชยด้วยภาษีศุลกากร เพื่อให้รถยนต์เหล่านี้ไม่มีข้อได้เปรียบในการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
ขณะที่ ผู้ผลิตหรือสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ของเยอรมนีจะมองว่า ภาษีศุลกากรไม่ได้ขจัดข้อเสียเชิงโครงสร้าง ที่มีอยู่ในสหภาพยุโรป อาทิ ราคาไฟฟ้าที่สูง กฏระเบียบที่เข้มงวดเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีความกังวลต่อมาตรการตอบโต้ และในกรณีนี้ ผู้ผลิตในเยอรมนีมีความเสี่ยงมากกว่าบริษัทอื่นๆ ในยุโรป เพราะว่าผู้ผลิตในยุโรปอื่น ไม่มีส่วนแบ่งการตลาดที่เกี่ยวข้องในจีน แต่ผู้ผลิตในเยอรมนีมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 20%
ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนกล่าวหาว่าสหภาพยุโรปกำลังดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าและเพิกเฉยต่อข้อเท็จจริง ไม่คำนึงถึงกฎขององค์การการค้าโลก และการกระทำนี้จะสร้างความเสียหายแก่ยุโรปเองและผู้อื่นด้วยเช่นกัน รัฐบาลจีนแสดงความต้องการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้ง โดยในเดือนกันยายนที่ผ่านมา นายหวังเหวินเทา รัฐมนตรีกระทรวงการค้าจีนเดินทางไปกรุงบรัสเซลส์เพื่อเจรจา และนอกจากความพยายามในการขัดขวางการเก็บภาษีนี้ รัฐบาลจีนยังขู่ว่าจะใช้มาตรการทางการค้าตอบโต้ด้วย ตัวอย่างเช่น การผลักดันการสอบสวนการอุดหนุนการผลิตผลิตภัณฑ์นมและบรั่นดีจากสหภาพยุโรป ที่รัฐบาลจีนมองว่าเป็นการแทรกแซงตลาด
นอกจากนี้ ท่าทีของประเทศอื่นๆ ตามรายงานของสถานีโทรทัศน์ TRT รัฐบาลตุรกีได้เรียกเก็บภาษีรถยนต์จาก 40% คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 7,000 ดอลลาร์ต่อคัน อีกทั้งยังมีการเรียกเก็บภาษีการขายอีก 10% แต่ยังมียกเว้นการเรียกเก็บภาษีให้กับผู้ผลิตที่ลงทุนในตุรกี