Volkswagen เตรียมปิดโรงงานในเยอรมนีครั้งแรกในประวัติศาสตร์
วันที่ 2 กันยายน 2024 บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า บริษัท โฟล์กสวาเกน (Volkswagen : VW) บริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมันที่เป็นเจ้าของแบรนด์รถยนต์ดังอย่างโฟล์กสวาเกน (Volkswagen) อาวดี้ (Audi) และปอร์เช (Porsche) กำลังพิจารณาปิดโรงงานในประเทศเยอรมนีเพื่อลดต้นทุนให้ได้มากขึ้น โดยวางแผนจะปิดโรงงานผลิตรถยนต์อย่างน้อย 1 แห่ง และโรงงานประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ 1 แห่ง พร้อมกับการยกเลิกข้อตกลงเรื่องค่าจ้างที่เคยตกลงไว้กับสหภาพแรงงาน
บริษัทโฟล์กสวาเกนเปิดเผยในวันจันทร์ที่ 2 กันยายนนี้ว่า มาตรการปิดโรงงานซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น พุ่งเป้าไปที่แบรนด์รถยนต์นั่งส่วนบุคคลแบรนด์หลักของบริษัท และการดำเนินงานอื่น ๆ ของกลุ่มบริษัท ไปจนถึงการพยายามยุติข้อตกลงของบริษัทกับสหภาพแรงงานที่จะรักษาตำแหน่งงานเอาไว้ให้มั่นคงไปจนถึงปี 2029 ด้วย
“สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมีความท้าทายมากขึ้น และมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในยุโรป … เยอรมนีในฐานะที่ตั้งธุรกิจกำลังมีความสามารถในการแข่งขันตกต่ำลงเรื่อย ๆ” โอลิเวอร์ บลูเม (Oliver Blume) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ ซีอีโอ บริษัท โฟล์กสวาเกน กล่าวในแถลงการณ์
การปิดโรงงานใด ๆ ก็ตามที่จะเกิดขึ้น จะถือเป็นการปิดโรงงานในเยอรมนีเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 87 ปีของบริษัท ซึ่งจะทำให้โฟล์กสวาเกนต้องปะทะกับสหภาพแรงงานซึ่งมีความเข้มแข็ง
ทั้งนี้ บริษัท โฟล์กสวาเกน ต้องดิ้นรนเพื่อลดต้นทุนการดำเนินงานของแบรนด์รถยนต์โฟล์กสวาเกน ซึ่งอัตรากำไรยังคงล้าหลังอยู่มาก และความพยายามนี้จะยากขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่ราบรื่น บวกกับภาวะการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ชะลอตัวลง
ตามคำแถลงที่ออกมาแยกกัน ดาเนียลา คาวัลโล (Daniela Cavallo) หัวหน้าสภาแรงงานของโฟล์กสวาเกนกล่าวว่า ฝ่ายบริหารของโฟล์กสวาเกนล้มเหลวหลังจากการประชุมระบุรายละเอียดว่า โฟล์กสวาเกนซึ่งเป็นแบรนด์หลักของบริษัทเสี่ยงที่จะขาดทุน
โฟล์กสวาเกนจ้างพนักงานจำนวนประมาณ 650,000 คนทั่วโลก ซึ่งเกือบ 300,000 คน อยู่ในเยอรมนี ซึ่งตัวแทนแรงงานถือครองที่นั่งในคณะกรรมการกำกับดูแลบริษัทอยู่ครึ่งหนึ่ง และรัฐโลว์เออร์แซกโซนีของเยอรมนี ซึ่งถือหุ้นบริษัทอยู่ 20% มักจะเข้าข้างสหภาพแรงงาน
ข้อพิพาทด้านแรงงานที่รุนแรงบานปลายจะเป็นบททดสอบครั้งสำคัญของ โอลิเวอร์ บลูเม ซีอีโอคนปัจจุบันของโฟล์กสวาเกน หลังจากที่สหภาพแรงงานเคยปะทะกับผู้บริหารระดับสูงหลายคน จนทำให้ผู้บริหารเหล่านั้นต้องลาออกจากตำแหน่งไปก่อนเวลาอันควร
ทั้งนี้ การตัดสินใจดังกล่าว จะ "เขย่ารากฐาน" ของโฟล์คสวาเกน ซึ่งเป็นผู้จ้างงานในอุตสาหกรรมรายใหญ่ที่สุดของเยอรมนีและเป็นผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของยุโรปเมื่อพิจารณาจากรายได้