คิดจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าEV ต้องเตรียมความพร้อมอะไรบ้าง?
คิดจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าEV ต้องเตรียมความพร้อมอะไรบ้าง?

คิดจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าEV ต้องเตรียมความพร้อมอะไรบ้าง?

รถยนต์ไฟฟ้า คืออะไร
     รถยนต์ไฟฟ้า คือประเภทของยานพาหนะที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นแหล่งขับเคลื่อนหลัก โดยไม่ต้องใช้เชื้อเพลิงในรูปแบบของน้ำมันหรือแก๊สเป็นแหล่งพลังงาน รถยนต์ไฟฟ้ามีอุปกรณ์แปลงกระแสไฟฟ้า และแบตเตอรี่ที่ใช้ในการเก็บพลังงานไฟฟ้าและมอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้ในการขับเคลื่อน และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายค่าเชื้อเพลิงลงไปได้ ด้วยการเสียบชาร์จแบตเตอรี่กับไฟบ้านหรือสถานีชาร์จไฟ ที่ตอนนี้มีให้บริการแล้วในหลายจุด

รถยนต์ไฟฟ้า มีกี่ประเภท
- รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle: HEV)
- รถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Vehicle: PHEV)
- รถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle: FCEV)
- รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV)


1.เตรียมความพร้อมระบบไฟในบ้าน เพื่อติดตั้งเครื่องชาร์จ

รถยนต์ไฟฟ้าเปรียบเสมือนเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นใหญ่หนึ่งชิ้นที่กินไฟ และมีโหลดที่ค่อนข้างเยอะ หากต้องเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน พร้อมกับชาร์จรถไฟฟ้าไปด้วยในเวลาเดียวกัน อาจทำให้ไฟตกหรือไฟไม่พอ ก่อนอื่นต้องเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้าให้มีขนาดที่ใหญ่ขึ้น เช่นของเดิมเป็นมิเตอร์ขนาด 5(15) หรือ 15(45) ก็อาจจะเพิ่มเป็น 30(100) แอมป์ หรือบางพื้นที่เราสามารถขอมิเตอร์ลูกที่สองเพื่อใช้กับรถไฟฟ้าโดยตรงได้เลย ซึ่งการเปลี่ยนขนาดมิเตอร์ หรือขอมิเตอร์ลูกที่สอง เราจะต้องไปติดต่อที่การไฟฟ้า รวมถึงต้องเปลี่ยนขนาดสายไฟ ติดตั้งสายดิน และตู้คอนซูมเมอร์ยูนิตจะต้องได้มาตรฐานที่การไฟฟ้ากำหนด

2. เลือกเครื่องชาร์จ ที่มีขนาดเหมาะสม

ส่วนใหญ่เมื่อเราซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ก็มักจะได้เครื่องชาร์จแบบติดผนังมาเป็นของแถม ซึ่งเครื่องชาร์จที่แถมมาให้นั้นก็จะมีขนาดกำลังไฟที่พอเหมาะกับรถที่เราซื้ออยู่แล้ว แต่สำหรับรถบางรุ่นที่ไม่แถมเครื่องชาร์จแบบติดผนังมาให้ หากเราต้องซื้อมาติดตั้งเอง ต้องดูก่อนว่ารถเรารองรับการชาร์จไฟกระแสสลับ (AC) กี่ kWh สมมติว่ารถรองรับ 6.6 kWh เราก็ซื้อเครื่องชาร์จ ขนาด 7 kWh หรือ 11 kWh ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว ถ้าถามว่าเราสามารถติดตั้งเครื่องชาร์ทที่ให้กำลังไฟมากกว่านั้นได้ไหม คำตอบคือ ได้ แต่มันเกินความจำเป็นครับ ยิ่งเครื่องที่ให้กำลังไฟมากราคาก็จะแพงขึ้น

3. ติดตั้งเครื่องชาร์จตรงไหนดี

ช่องชาร์จของรถไฟฟ้าแต่ละรุ่น อาจอยู่คนละตำแหน่งกัน เช่น MG ZS EV ช่องชาร์จไฟอยู่ด้านหน้า ,MG4 ช่องชาร์จไฟอยู่ด้านหลังฝั่งซ้าย, Mini Cooper SE ช่องชาร์จไฟอยู่ด้านหลังฝั่งขวา เป็นต้น หากติดเครื่องชาร์จผิดตำแหน่ง อาจทำให้ลำบากตอนชาร์จไฟ และถ้าเป็นไปได้ควรติดตั้งเครื่องชาร์จเอาไว้ในที่ที่มีหลังคา เพื่อป้องกันแสงแดดและน้ำ จะได้ไม่เสื่อมสภาพไว

4. ต้องดูว่าในหนึ่งวัน เราใช้รถในการเดินทางกี่ กม.

อย่างเช่นในหนึ่งวันเราเดินทาง 100 กม. ถ้าเป็นกรณีนี้รถยนต์ไฟฟ้าทุกรุ่นตอบโจทย์การใช้งานคุณได้แน่นอน เพราะในปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ก็วิ่งได้ระยะทาง 300 กม. ขึ้นไปอยู่แล้ว แต่ถ้าในหนึ่งวันคุณต้องเดินทางไกลมากกว่า 300 กม. อาจต้องพิจารณารุ่นรถที่รองรับกับระยะทางที่คุณใช้งาน รวมถึงศึกษาเส้นทางว่าจุดที่เราขับรถผ่านนั้นมีสถานีชาร์จไฟหรือไม่

หลังจากที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาแล้วต้องดูแลอะไรบ้าง ?

1. ควรซื้อประกันภัยชั้น1 เท่านั้น และห้ามปล่อยให้ประกันขาด

หากรถเราเกิดอุบัติเหตุโดยที่ไม่มีประกัน และถ้าความเสียหายนั้นคือแบตเตอรี่ บอกเลยว่าค่าซ่อมเจ็บหนักแน่นอน เพราะแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ามีราคาประมาณครึ่งหนึ่งของราคารถ และเหตุผลที่ต้องให้ซื้อประกันภัยชั้น 1 เท่านั้น เพราะจะได้วงเงินคุ้มครองรถเราทั้งการชนแบบมีคู่กรณี และไม่มีคู่กรณี เช่น ขับชนเสาไฟฟ้า ขับรถตกข้างทาง เป็นต้น

2. น้ำหล่อเย็น ห้ามปล่อยแห้ง

และการดูแลรักษารถยนต์ไฟฟ้า แม้จะไม่จุกจิกเหมือนรถน้ำมัน แต่ก็มีจุดที่ต้องดูแลเหมือนกัน เช่น น้ำยาหล่อเย็นสำหรับแบตเตอรี่ และมอเตอร์ ควรเติมให้ถึงระดับที่กำหนดห้ามปล่อยให้แห้งเด็ดขาด เพราะน้ำยาตัวนี้จะช่วยลดความร้อนให้กับแบตเตอรี่และมอเตอร์ไฟฟ้า รวมถึงกรองแอร์ก็เช่นกัน ควรเปลี่ยนตามรอบที่กำหนด

3. ถ้าเค้นกำลังมอเตอร์มากเกินไป รถจะกินไฟเยอะ

หลายคนที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าก็หวังเพื่อให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางลดลง แต่ถ้าคุณใช้ความเร็วท็อปสปีดติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือตะบี้ตะบันขยี้คันเร่งแบบดุดันไม่เกรงใจใคร ก็จะทำให้รถกินไฟมากขึ้น และยังทำให้มอเตอร์ไฟฟ้ามีโอกาสเสียหายได้ไวขึ้นในอนาคต ดังนั้นควรใช้ความเร็วที่เหมาะสมจะดีกว่า

4. ชาร์จไฟแบบ DC แบตเสื่อมไวกว่าชาร์จแบบ AC

ปัจจุบัน รถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่จะรองรับการชาร์จทั้งไฟกระแสสลับ (AC) และไฟกระแสตรง (DC) ซึ่งแต่ละแบบนั้นมีข้อดีและข้อเสียต่างกัน หากชาร์จไฟกระแสสลับ (AC) กำลังไฟจะน้อย ใช้เวลาชาร์จนานกว่า แต่ข้อดีก็คือแบตเตอรี่จะเสื่อมสภาพช้า ในขณะที่การชาร์จแบบไฟกระแสตรง (DC) กำลังไฟจะเยอะกว่า ใช้เวลาในการชาร์จที่เร็วกว่า แต่ในระยะยาวแบตเตอรี่ก็จะเสื่อมไวกว่าด้วย

5. ติดฟิล์มกรองแสงกันความร้อน ที่มีคุณภาพ

การติดตั้งฟิล์มกรองแสงกันความร้อน เป็นอีกหนึ่งวิธีในทางอ้อมที่จะช่วยให้รถของคุณประหยัดไฟ เพราะประเทศไทยเป็นเมืองร้อน อาจทำให้คอมแอร์ทำงานหนักจนกินไฟ อีกทั้งแสงแดดยังทำลายชิ้นส่วนต่าง ๆ ในรถ เช่น ชิ้นส่วนที่เป็นพลาสติก และหนัง เป็นต้น

6. ดูแลสีรถ ให้สดใหม่ เงางาม

ปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าที่มีจำหน่ายในประเทศไทย ยังถือว่ามีราคาแพงเมื่อเทียบกับรถน้ำมัน ไหน ๆ ก็ขับรถราคาแพงแล้ว ควรดูแลสภาพสีภายนอกควบคู่กันไปด้วย รถจะได้สดใหม่เงางามอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการดูแลสีรถที่นิยมทำกันก็จะมี 2 แบบ คือ การเคลือบสี และ การติดสติกเกอร์กันรอย

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง