
Nissan ย้ำไม่ได้ปิดโรงงานในไทย! พร้อมควบรวมการผลิตโรงงาน 2 แห่ง
แหล่งข่าวระดับสูงของ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ Autolifethailand ว่า โรงงานในประเทศไทยตามกระแสข่าวดังกล่าวนั้นคือโรงงานแห่งที่ 1 ในประเทศไทยของบริษัทซึ่งได้มีระยะเวลาการดำเนินงานมาอย่างยาวนาน ซึ่งเดิมมีการใช้ผลิตรถยนต์นิสสันรุ่นต่างๆ อาทิ นิสสัน เอ็กซ์–เทรล (X-Trail), นิสสัน เทียน่า (Teana), นิสสัน ซีลฟี่ (Slyphy), นิสสัน โน๊ต (Note), นิสสัน มาร์ช (March) และ นิสสัน อัลเมร่า (Almera)
ทั้งนี้ ปัจจุบันได้มีการผลิตรถยนต์นิสสัน ในรุ่น นิสสัน นิสสัน คิกส์ (KICKS) และ นิสสัน อัลเมร่า (Almera) ในโรงงานแห่งดังกล่าวเท่านั้น
ขณะที่ ตามแผนควบรวมการผลิต ของ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) โรงงานแห่งที่ 1 จะมีการปรับเปลี่ยนไปเป็นโรงงานขึ้นรูปและประกอบตัวถังและโลจิสติกส์ และนำเอาไลน์ผลิตรถยนต์ไปรวมกับโรงงานแห่งที่ 2 โดยหลังจากนี้โรงงานแห่งที่ 2 จะมีการผลิตรถยนต์ นิสสัน นาวารา (NAVARA), นิสสัน เทอร่า (TERRA), นิสสัน อัลเมร่า (ALMERA) และ นิสสัน คิกส์ (KICKS)
สำหรับโรงงานผลิตรถยนต์นิสสันในประเทศไทยมีจำนวน 2 แห่ง กำลังการผลิตรวม 3.7 แสนคัน/ปี แบ่งเป็น โรงงานแห่งที่ 1 กำลังการผลิต 2.2 แสนคัน และ โรงงานแห่งที่ 2 กำลังการผลิต 1.5 แสนคัน นอกจากนั้น ยังมีโรงงานประกอบแบตเตอรี่สำหรับเครื่องยนต์ อี–พาวเวอร์ (E-Power) อีกด้วย
มาโกโตะ อูชิดะ ประธานและซีอีโอของ นิสสัน (Nissan) เปิดเผยความคืบหน้าของมาตรการฟื้นฟูกิจการครอบคลุมรอบด้านโดยระบุว่า นิสสันมีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการดำเนินการพลิกฟื้นธุรกิจโดยมีเป้าหมายที่จะลดต้นทุนลงประมาณ 400,000 ล้านเยน โดยทุ่มเทเพื่อให้บรรลุโครงสร้างต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะที่ขับเคลื่อนการเติบโตของรายได้รวมผ่านผลิตภัณฑ์ที่มี สามารถแข่งขันได้ดียิ่งขึ้น สามารถตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าของเรา เรากำลังดำเนินการพลิกฟื้นธุรกิจโดยเน้นที่ประสิทธิภาพ และการเติบโตด้วยความเร็วมุ่งสู่จุดหมายของบริษัท
ทั้งนี้ นิสสันวางแผนที่จะปรับโครงสร้างต้นทุนให้เหมาะสม ลดต้นทุนคงที่ และต้นทุนผันแปรลง รวมประมาณ 400,000 ล้านเยน ในปีงบประมาณ 2026 ซึ่งจะสามารถลดจุดคุ้มทุนในธุรกิจในปีงบประมาณ 2026 จาก 3.1 ล้านหน่วย เหลือ 2.5 ล้านหน่วย ซึ่งจะทำให้มีกำไรจากการดำเนินงานที่มั่นคงอยู่ที่ 4%
สำหรับในด้านของต้นทุนคงที่นั้น มีเป้าหมายที่จะประหยัดได้กว่า 200,000 ล้านเยน จากค่าใช้จ่ายในการขาย และการบริหารทั่วไป (SG&A) ประมาณ 100,000 ล้านเยน จากการปรับโครงสร้างฐานการผลิต และประมาณ 30,000 ล้านเยน จากการพัฒนาประสิทธิภาพด้านต่างๆ
นิสสันวางแผนที่จะลดพนักงานประจำสำนักงาน (indirect employees) ทั่วโลก 2,500 คนโดยการปรับกระบวนการทำงาน ลดการจ้างงาน และเร่งรัดโปรแกรมออกจากงานโดยสมัครใจ นิสสันจะลดต้นทุนแรงงานต่อหน่วยด้วยมาตรการเพิ่มเติม ซึ่งรวมถึงการขยายการทำงานที่สามารถใช้พนักงานร่วมกันระหว่างแผนกกว่า 1,000 ตำแหน่ง และให้ความสำคัญกับค่าใช้จ่ายด้านการตลาดคงที่
อีกทั้ง นิสสันตั้งเป้าที่จะลดค่าใช้จ่ายประมาณ 100,000 ล้านเยน ด้วยการรวมสายการผลิต ปรับรูปแบบการทำงานแบบกะ และการโอนงาน โดยเริ่มจากโรงงาน 3 แห่งในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2025 ได้แก่ โรงงานที่เมือง Smyrna และ เมือง Canton ในสหรัฐอเมริกา รวมถึงโรงงานในประเทศไทย การปรับขนาดให้เหมาะสมนี้ จะช่วยลดจำนวนพนักงานในโรงงานผลิตยานยนต์ และผลิตเครื่องยนต์ลงถึง 5,300 คนในปีงบประมาณ 2025 และ 1,200 คนในปีงบประมาณ 2026 ส่งผลให้มีพนักงานลดลงทั้งหมด 6,500 คน การประหยัดการผลิตเหล่านี้จะเสริมด้วยประสิทธิภาพด้านวิศวกรรม และการดำเนินงานใหม่ รวมถึงการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ และการลดค่าใช้จ่ายในการลงทุน (Capital expenditures – CAPEX) และต้นทุนในการเปิดตัวผลิตภัณฑ์
ด้านของการปรับโครงสร้างฐานการผลิต นิสสันมีแผนที่จะลดกำลังการผลิตทั่วโลกลง 20% และปรับปรุงกำลังคนด้านการผลิตให้เหมาะสมภายในปีงบประมาณ 2026 ซึ่งรวมถึงการลดกำลังการผลิตที่ดำเนินการแล้วในจีนจาก 1.5 ล้านหน่วย เหลือ 1 ล้านหน่วย โดยจะผสานความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะลดกำลังการผลิตจาก 3.5 ล้านหน่วย เหลือ 3 ล้านหน่วยสำหรับโรงงานที่อยู่นอกประเทศจีน และเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตของโรงงานจาก 70% ในปีงบประมาณ 2024 เป็น 85% ในปีงบประมาณ 2026 ทั้งนี้เมื่อรวมโรงงานผลิตในประเทศจีน นิสสันตั้งเป้าที่จะลดกำลังการผลิตทั่วโลกจาก 5 ล้านหน่วย ในปัจจุบัน เหลือ 4 ล้านหน่วย ภายในปีงบประมาณ 2026
นิสสันตั้งเป้าลดต้นทุนประมาณ 30,000 ล้านเยนผ่านการพัฒนาประสิทธิภาพที่ดีขึ้น แนวคิดการพัฒนาแบบครอบคลุมทั้งกระบวนการจะช่วยลดระยะเวลาในการนำเสนอสินค้าออกสู่ตลาด และลดต้นทุนการพัฒนา ทำให้ประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น และลดต้นทุนได้ประมาณ 20,000 ล้านเยน แนวทางแบบบูรณาการนี้จะนำไปใช้กับโครงการที่กำลังดำเนินอยู่ โดยจะได้รับประโยชน์ตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป รถยนต์รุ่นแรกที่ใช้กระบวนการนี้จะเปิดตัวในปีงบประมาณ 2026
นอกจากนั้น นิสสันตั้งเป้าที่จะลดต้นทุนที่เกิดจากการออกแบบลง 60,000 ล้านเยน โดยเริ่มจากการลดความซับซ้อนของการออกแบบ (ปรับประสิทธิภาพ และเนื้อหาของรถยนต์) ในผลิตภัณฑ์หลัก 6 รายการ ทั่วโลก เพื่อลดต้นทุนการดำเนินการด้านการผลิต ได้แก่ การลดความซับซ้อนของชิ้นส่วนลงมากถึง 70% การปรับปรุงการวางแผนการผลิตเพื่อขจัดความไม่มีประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทาน และลดต้นทุนในคลังสินค้า และการเพิ่มประสิทธิภาพในขณะที่ลดต้นทุนในการจัดเก็บชิ้นส่วนอะไหล่ด้านการบริการหลังการขาย ด้วยความพยายามร่วมกันต่างๆ เหล่านี้ นิสสันตั้งเป้าที่จะลดต้นทุนโดยรวมลงประมาณ 100,000 ล้านเยน
ขณะเดียวกัน เพื่อให้แน่ใจว่ารายได้จะเติบโต นิสสันจะจัดหาชุดของผลิตภัณฑ์ที่ติดตั้งเทคโนโลยีที่แตกต่างกันซึ่งสามารถปรับแต่งให้เหมาะกับความต้องการของลูกค้าทั่วโลก
ในปีงบประมาณ 2024 นิสสันได้ปรับปรุงกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกันหลากหลาย เช่น Qashqai, Juke, Kicks, Armada, Note, Patrol, Magnite, QX80 และ Murano โดยแต่ละรุ่นได้รับการปรับปรุงเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับลูกค้าและต้องสามารถส่งมอบในปริมาณที่ทำกำไรได้ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของตลาดที่แตกต่างกัน
โดยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ บริษัทจะเปิดตัวรถยนต์แบบปลั๊กอินไฮบริด (plug-in hybrid) รุ่นใหม่ในปีงบประมาณ 2025 และ 2026 รวมทั้งปรับปรุงรถยนต์แบบมินิแวนรุ่นที่ได้รับรางวัล และมินิแวนขนาดใหญ่ นอกจากนี้ นิสสันยังจะเสริมความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มผลิตภัณฑ์รถยนต์ไฟฟ้าที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ด้วยรถยนต์รุ่น LEAF ใหม่ ไปจนถึงรถยนต์คอมแพคไฟฟ้ารุ่นใหม่ และรถยนต์พลังงานใหม่ (NEV) รุ่นใหม่ ที่มุ่งเป้าไปที่ตลาดของประเทศจีน
การมีส่วนสนับสนุนต่อการเติบโตที่ทำกำไรได้อย่างยั่งยืนนั้นแสดงให้เห็นได้จากรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ e-POWER รุ่นที่ 3 (third-generation e-POWER) โดยรถยนต์รุ่น e-POWER รุ่นที่ 3 จะได้รับการปรับปรุงที่สำคัญหลายประการ เช่น ประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงที่ดีขึ้น 20% และต้นทุนที่ลดลง 20% เมื่อเทียบกับรุ่นแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงที่ความเร็วสูงจะได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นถึง 15% เมื่อเทียบกับรุ่นที่สอง ทำให้บรรลุประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงระดับสูงสุดในยุโรป และถือเป็นการปรับปรุงที่สำคัญในตลาดของสหรัฐอเมริกา
ผลกำไรในอนาคตของนิสสันยังขึ้นอยู่กับนวัตกรรมทางเทคนิค โดยเน้นที่ยานยนต์อัจฉริยะมากขึ้น ห้องโดยสารอัจฉริยะอันเป็นเอกลักษณ์ และคุณสมบัติช่วยเหลือผู้ขับขี่ต่างๆ จะถูกนำมาใช้ในรุ่นที่วางแผนเปิดตัวภายในปีงบประมาณ 2026 โดยหลังจากนั้น นิสสันตั้งเป้าที่จะทำให้การขับขี่อัตโนมัติแบบ door-to-door กลายเป็นเรื่องธรรมดา และนำเสนอบริการการขับเคลื่อนแบบไร้คนขับในญี่ปุ่น โดยมีแผนจะเปิดตัวในเชิงพาณิชย์ภายในปีงบประมาณ 2027
การผสมผสานระหว่างการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ การขยายตลาด และความคิดริเริ่มเชิงกลยุทธ์นี้จะผลักดันการเติบโตของรายได้รวมในปีงบประมาณ 2025 และ 2026 โดยมีแผนจะเพิ่มปริมาณการขายผ่านการเปลี่ยนรุ่น และขยายเข้าสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ
และเพื่อเพิ่มความเร็วในการตัดสินใจ ผู้บริหารระดับสูงของนิสสันจะใช้กรอบงานแบบชั้นเดียว โดยลดตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงลง 20% และสร้างโอกาสก้าวหน้าให้กับคนรุ่นต่อไปภายในองค์กรที่ปรับปรุงใหม่ และไม่มีขอบเขต
บริษัทจะลดความซับซ้อนของขั้นตอนการบริหาร และขยายขอบเขตการควบคุมเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการตัดสินใจ นอกจากนี้ บทบาท และตำแหน่งของผู้บริหารจะได้รับการประเมิน และจัดประเภทใหม่ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ทางธุรกิจภายใต้ระบบรวมในระดับโลกใหม่ ด้วยการกำหนดบทบาท และความรับผิดชอบที่ชัดเจนระหว่างฟังก์ชันระดับโลก และฟังก์ชันระดับภูมิภาค นิสสันตั้งเป้าที่จะสร้างการบริหารของสำนักงานใหญ่ระดับโลกให้มีความคล่องตัวยิ่งขึ้น ด้วยฟังก์ชันที่เป็นต้นน้ำแบบศูนย์รวม และฟังก์ชันที่รับนโยบายเป็นแบบกระจายอำนาจ ซึ่งจะช่วยให้หน่วยธุรกิจในภูมิภาคต่างๆ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานได้ดียิ่งขึ้น
นิสสันจะใช้มาตรการที่มีอยู่ทั้งหมดเพื่อดำเนินการในขั้นตอนต่อไปของการปรับโครงสร้างเชิงรุก โดยยึดตามมาตรการที่เป็นไปได้ทั้งหมด นิสสันจะดำเนินการตรวจสอบสถานะในตลาด และกำหนดว่าจะคงสถานะไว้ที่ใด พร้อมทั้งกำหนดกลยุทธ์การดำเนินงานสำหรับตลาดที่เหลือ นอกจากนี้ บริษัทจะเพิ่มประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์หลัก แพลตฟอร์ม และรูปแบบของเครื่องยนต์ เพื่อจัดลำดับความสำคัญ และปรับปรุงด้านการลงทุน ในขณะเดียวกัน นิสสันจะเร่งดำเนินโครงการความร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ รวมถึง ฮอนด้า และพันธมิตรคู้ค้าอื่นๆ
ในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพของสินทรัพย์ นิสสันจะประเมินสินทรัพย์อย่างเข้มงวดเพื่อค้นหาโอกาสในการลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพอย่างมีนัยสำคัญ
นิสสันจะดำเนินการตรวจสอบเชิงกลยุทธ์เพื่อแสวงหาโอกาสในการหาพันธมิตรที่มีศักยภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าองค์กรของนิสสันอย่างมีนัยสำคัญ