นายสุโรจน์ แสงสนิท รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายให้ "เอ็มจี" เป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) แบรนด์แรกที่ผลิตในไทยได้ส่งออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะในตลาดยุโรปที่มีการตอบรับอีวีเป็นอย่างดีและมีโอกาสในการขยายตัวอีกมาก
ประกอบกับที่แบรนด์อีวีจีนในขณะนี้กำลังเผชิญมาตรการกีดกันทางการค้า โดยยุโรปตั้งกำแพงภาษีสูงสุดถึง 38% ซึ่งเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาก รวมทั้งยังต้องเปิดเผยข้อมูลด้านเทคโนโลยีอย่างละเอียดท้ังหมดในเอกสารประกอบการนำเข้า จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่บริษัทจีนต้องการย้ายฐานการผลิตออกมานอกประเทศ
“ดังนั้นผมมองว่าเป็นโอกาสทองของประเทศไทย ที่จะเป็นฐานการผลิตและประกอบรถอีวีเพื่อส่งออกไปตลาดยุโรปแทนโรงงานในประเทศจีน อย่างไรก็ตาม จะเป็นการส่งออกอีวีที่มีการนำเข้าชิ้นส่วนจากจีนเลยไม่ได้ แต่ต้องมีการเปลี่ยนสัญชาติถิ่นกำเนิดของรถให้มาจากไทย โดยการเพิ่มชิ้นส่วนประกอบรถอีวีที่ผลิตในประเทศ เพิ่มสัดส่วน Local Content เกินกว่า 40% ตามเกณฑ์ในการส่งออก"
นายสุโรจน์ กล่าวว่า การลงทุนของบริษัทจีนในไทยจะเพิ่มขึ้นเพื่อให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีของชิ้นส่วนประกอบรถอีวีในประเทศให้มากขึ้น เพื่อให้มีการผลิตรถอีวีในไทยตามกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า
วอนรัฐเร่งเจรจา FTA EU
ปัจจุบัน การส่งออกรถยนต์จากไทยไปยุโรปยังไม่เคยเกิดขึ้น เนื่องจากยังไม่มีการตกลงทางการค้าระหว่างกัน ซึ่งคาดว่าหากสามารถส่งออกรถอีวีจากไทยไปยุโรปได้น่าจะมีภาษีนำเข้าอยู่ที่ 10-20% จึงคาดหวังว่าภายในสิ้นปีนี้ที่รัฐบาลจะบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีกับยุโรป (FTA EU) จะเป็นกลไกสำคัญที่เปิดประตูการส่งรถอีวีจากไทย
เร่งพัฒนาชิ้นส่วนแบตฯ
ทั้งนี้ การพัฒนาชิ้นส่วนประกอบสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งก็คือแบตเตอรี่ จะเป็นหัวใจสำคัญของการเพิ่ม local content ให้กับรถอีวี ซึ่งชิ้นส่วนในการประกอบแบตเตอรี่จากเซลเป็นแพค สามารถผลิตในไทยได้ โดยมีชิ้นส่วนหลักในรถอีวีมีส่วนที่ผลิตได้ในไทยแล้ว ได้แก่ ESS Battery, HV/ LV Harness, E-Compressor, Onboard Charger และ dc/DC Converter
ส่วนที่อยู่ระหว่างการพัฒนาร่วมกับซัพพลายเออร์ ได้แก่ BMS, Tractor Motor, Drive Control Unit, Reduction Gear และ PCU Inverter อย่างไรก็ตามจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี ในการพัฒนาร่วมกับพาร์ทเนอร์และซัพพลายเออร์ในประเทศ
นอกจากนี้ชิ้นส่วนที่พัฒนาขึ้นจะต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานของศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า ภายในศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) โดยสถาบันยานยนต์ ซึ่งต้องมีต้นทุนในการทดสอบชิ้นละ 1 ล้านบาท
ทั้งนี้ ผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศแม้จะมีศักยภาพในการพัฒนาและผลิตชิ้นส่วนสำหรับรถอีวี อย่างไรก็ตาม ปริมาณการผลิตเพื่อป้อนตลาดในประเทศยังน้อยทำให้มีต้นทุนสูง จึงทำให้ผู้ประกอบการยังไม่พร้อมที่จะลงทุน
โดยบริษัทได้หารือกับสถาบันยานยนต์ว่าจะมีแนวทางสนับสนุนอย่างไรบ้างเพื่อให้เกิดการวิจัยและพัฒนาชิ้นส่วนในประเทศมากขึ้น เบื้องต้นมีความร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการสนับสนุนเงินทุนด้านการวิจัยสำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนที่มีศักยภาพ