วิกฤตหนัก! เต็นท์รถยนต์มือสองซบเซา รถยึดล้นโกดัง จากมาตรการไฟแนนซ์ และ กระแสรถ EV
วิกฤตหนัก! เต็นท์รถยนต์มือสองซบเซา รถยึดล้นโกดัง จากมาตรการไฟแนนซ์ และ กระแสรถ EV

เข้าขั้นวิกฤตขึ้นเรื่อยๆ สำหรับเตนท์รถยนต์มือสอง ในช่วงที่ผ่านมาที่ต้องเผชิญกับมาตรการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินและบริษัทไฟแนนซ์ ส่งผลให้ยอดขายรถมือสองลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ยังมีการขายรถยนต์ฬนราคาที่ต่ำลงเพื่ออยู่รอด หรือบางรายที่สู้ไม่ไหวก็ถึงต้องปิดตัวลงไปเลยก็มี นอกจากนี้ กระแสความนิยมรถยนต์ไฟฟ้ายังมาแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ก็ทำให้ตลาดรถมือสองซบเซาลงไปด้วย

และจากมาตรการดังกล่าวที่กล่าวไปข้างต้น ส่งผลให้ยอดขายรถมือสองในพื้นที่ลดลงถึงร้อยละ 40 โดยเต็นท์รถขนาดใหญ่ที่เคยขายรถได้เดือนละ 20 คัน ตอนนี้ไฟแนนซ์ปล่อยกู้ให้ไม่เกิน 10 คัน ส่วนเต็นท์รถเล็กๆ บางแห่งไฟแนนซ์อนุมัติสินเชื่อให้แค่เดือนละ 2 คัน ทำให้การปล่อยรถทำได้ยากขึ้น บางรายยอมขายขาดทุนเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด

ในขณะที่ นายอิศม์เดช ชูแก้ว ผู้ประกอบการธุรกิจรถยนต์มือสองในอำเภอหาดใหญ่ ระบุว่า ไฟแนนซ์ได้ออกเงื่อนไขที่เข้มงวดมากขึ้น เช่น หากเคยผ่านการเช็คแบล็คลิสต์มาแล้ว 1 ครั้ง จะไม่สามารถเช็คซ้ำครั้งที่ 2 ได้ ทำให้ไม่สามารถซื้อรถได้ นอกจากนี้ผู้ซื้อยังต้องมีประวัติการผ่อนชำระที่ดี มีรายได้ประจำจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน ส่วนผู้ที่ทำงานรับเงินสดจะไม่ผ่านการอนุมัติสินเชื่อ ทำให้การเข้าถึงสินเชื่อของประชาชนทั่วไปทำได้ยากกว่าแต่ก่อนมาก

อีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์มือสอง คือ การนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าในช่วงปี 2566-2567 ซึ่งทำให้ตลาดรถมือสองผันผวนอย่างหนัก ส่งผลให้ราคาขายต่อรถยนต์ร่วงลง ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ชั้นนำก็ยังต้านไม่อยู่ เต็นท์รถบางแห่งถึงขั้นไม่รับซื้อ เพราะเกรงว่าจะขายต่อไม่ได้และต้องขาดทุนเลยทีเดียว

นอกจากนี้ยังพบว่า แต่ละเดือนมีรถมือสองที่ถูกไฟแนนซ์ยึดจากลูกค้าส่งเข้ามาเก็บในโกดังมากกว่า 400 คัน และยังมีเจ้าของรถที่ผ่อนชำระไม่ไหวนำรถมาคืนด้วยตัวเองโดยไม่ต้องถูกยึด เฉลี่ยวันละ 2-3 คัน คาดว่าแนวโน้มรถที่ถูกยึดและส่งคืนจะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จากปัญหาการผ่อนชำระของผู้ซื้อ

จะเห็นได้ว่า ธุรกิจเต็นท์รถมือสองกำลังประสบปัญหาหนักจากสองสาเหตุที่เกิดขึ้น ในขณะที่รถยึดและรถที่ถูกส่งคืนกลับมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน ดังนั้นผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวและหากลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดท่ามกลางความท้าทายในครั้งนี้

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง