หลังจากที่มีกรณีของผู้ใช้ Mazda CX-5 (มาสด้า ซีเอ็กซ์-5) ที่มีปัญหาได้ฟ้องร้องกันระหว่างผู้บริโภค กับทางบริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นมหากาพย์มาอย่างยาวนานหลายปี ล่าสุด ศาลได้พิพากษาให้ทาง Mazda (มาสด้า) ชดเชยพร้อมค่าเสียหายทางจิตใจ และค่าเสียหายเชิงลงโทษ มีมูลค่ารวมประมาณ 9 แสนบาทเศษแล้ว
โดยเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา นายศิรา โอสถธรรม ทนายความของผู้เสียหายรายหนึ่งจากการซื้อรถยนต์ Mazda CX-5 Skyactiv-D 2.2 L กล่าวว่า ผู้เสียหายรายนี้ได้ซื้อรถยนต์ Mazda CX-5 รุ่นสกายแอคทีฟ เครื่องยนต์ดีเซล เมื่อใช้งานรถยนต์ไปได้ประมาณ 90,000 กิโลเมตรเศษ
กลับพบปัญหา “น้ำดัน” คือ จะพบน้ำจากระบบหล่อเย็นรั่วออกมาตรงบริเวณหม้อพักน้ำหล่อเย็นในห้องเครื่องยนต์ จึงนำรถเข้าศูนย์บริการมาสด้า โดยช่างได้เปลี่ยนเครื่องยนต์ให้ใหม่ แต่เมื่อขับไปได้ระยะหนึ่งก็พบปัญหาเดิม แต่ภายหลังศูนย์บริการมาสด้า และ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ปฏิเสธการเปลี่ยนเครื่องยนต์ให้ผู้เสียหาย ทั้งที่อยู่ยังอยู่ในระยะเวลาประกัน
ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดเฉพาะผู้เสียหายรายนี้ เพราะเมื่อปี 2562 มีผู้ซื้อรถยนต์ Mazda CX-5 รุ่นสกายแอคทีฟ เครื่องยนต์ดีเซล ที่พบปัญหาในลักษณะเดียวกัน และได้รวมตัวกันเพื่อยื่นฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่มต่อ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กรณีขายรถยนต์ที่มีความชำรุดบกพร่อง และศาลแพ่งกรุงเทพใต้ มีคำสั่งรับเป็นคดีแบบกลุ่ม ซึ่งมีผู้เสียหายจำนวนมาก รวมถึงผู้เสียหายรายนี้ก็เป็นสมาชิกคดีกลุ่มด้วย โดยปัจจุบันคดีแบบกลุ่มดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้
ต่อมาผู้เสียหายได้นํารถเข้าศูนย์บริการมาสด้า เมื่อศูนย์บริการฯ ทราบว่าผู้เสียหายเป็นสมาชิกคดีกลุ่มที่กําลังฟ้องร้องอยู่ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศูนย์บริการฯ จึงยื่นข้อเสนอว่า จะเปลี่ยนเครื่องยนต์ให้หากออกจากสมาชิกกลุ่ม ผู้เสียหายจึงยอมรับข้อตกลง แต่หลังจากนั้นกลับพบว่าศูนย์บริการฯ ไม่ทำตามข้อตกลง
โดยอ้างว่า ก่อนหน้านี้ผู้เสียหายไปเปลี่ยนน้ำยาหล่อเย็นมาแล้วจากอู่นอก ที่ไม่ใช่ศูนย์บริการของมาสด้าจึงทำให้รถยนต์เกิดอาการน้ำดัน และไม่สามารถเปลี่ยนเครื่องยนต์ให้ได้ แต่เสนอแนวทางแก้ไขอื่นที่ผู้เสียหายต้องจ่ายเงินเอง ผู้เสียหายจึงปรึกษาทนายความและตัดสินใจฟ้องคดีด้วยตนเอง เมื่อช่วงปลายเดือนเมษายน 2564 ที่ศาลจังหวัดชลบุรี
นายศิรากล่าวอีกว่า ที่ศาลจังหวัดชลบุรีได้มีการนําสืบเรื่องความชํารุดบกพร่องและความเสียหายของรถ ว่าเกิดจากการผลิตหรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลพยานหลักฐานเรื่องอาการน้ำดัน ในต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น มาเลเซีย และไต้หวัน โดยพบว่าผู้เสียหายที่ใช้รถรุ่นนี้พบเจอปัญหาแบบเดียวกัน ซึ่งในต่างประเทศได้ให้ความสำคัญการคุ้มครองผู้บริโภคมากกว่าในประเทศไทย นอกจากนี้ ในไทย ยังพบว่ามีรถยนต์รุ่นนี้หลายคันได้มีการจดทะเบียน และมีการเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ที่กรมขนส่งทางบกมากกว่าหนึ่งครั้งด้วย
หลังจากสืบพยานและพิจารณาหลักฐานทั้งหมด เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ศาลจึงมีคําพิพากษา โดยสรุปว่า เครื่องยนต์ของรถยนต์ดังกล่าวมีความชํารุดบกพร่องจริง เนื่องจากมีผู้เสียหายหลายคนซึ่งปรากฎในคดีกลุ่มอยู่แล้ว และพิพากษาให้บริษัทมาสด้าจ่ายค่าเสียหายให้กับตัวผู้ใช้รถซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าว โดยมีค่าชดเชยพร้อมค่าเสียหายทางจิตใจ และค่าเสียหายเชิงลงโทษ มีมูลค่ารวมประมาณ 9 แสนบาทเศษ
นายศิรากล่าวเพิ่มเติมว่า ความยากของคดีประเภทแบบนี้ คือ เรื่องของการค้นหาเอกสารพยานหลักฐาน เพื่อนำประกอบการฟ้องร้องหรือสืบพยาน เนื่องจากผู้ประกอบการไม่ให้ความร่วมมือเรื่องข้อมูลหรือพยายามปกปิดข้อมูล เช่น คดีที่ศาลจังหวัดชลบุรี ศาลได้มีคำสั่งเรียกพยานเอกสารสำคัญเกี่ยวกับการชำรุดบกพร่องของรถยนต์จากผู้ประกอบการแต่ผู้ประกอบการไม่นำส่งต่อศาล เพราะอาจกลัวว่าจะทำให้ตนเองเสียเปรียบในทางคดี ทำให้การค้นหาพยานหลักฐานหรือหรือพิสูจน์เกี่ยวกับความชํารุดบกพร่องว่ามีอยู่จริงเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้น เพราะผู้ประกอบการมักจะกล่าวโทษว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์นั้น ๆ เป็นความผิดของผู้บริโภคเอง
สำหรับผู้เสียหายที่เป็นสมาชิกคดีแบบกลุ่ม (ผู้ใช้รถยนต์ Mazda CX-5 รุ่นสกายแอคทีฟ (Skyactiv) เครื่องยนต์ดีเซล ทุกคัน) ให้รอฟังคำพิพากษาคดีแบบกลุ่ม ว่าจะมีคำตัดสินอย่างไร ซึ่งหากชนะคดีก็สามารถติดตามและขอรับชำระหนี้ได้ หากศาลพิพากษาให้ผู้ประกอบการรับผิดชอบหรือชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้ใช้รถยนต์ หรือหากเป็นการตกลงประนีประนอมยอมความ อาจมีการชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้ใช้รถยนต์ แต่ทั้งนี้เมื่อสมาชิกคดีแบบกลุ่ม พิจารณาแล้วคาดว่าผลการชดเชยอาจไม่คุ้มกับความเสียหายที่ได้รับก็สามารถออกจากคดีแบบกลุ่มก่อนศาลจะมีคำพิพากษา โดยต้องออกจากกลุ่มภายในระยะเวลาที่ศาลประกาศกำหนด และใช้สิทธิยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ด้วยตนเองได้ เพราะหากเป็นคดีเดี่ยวอาจได้รับการพิจารณาถึงความเสียหายของแต่ละคนหรือแต่ละกรณีอย่างละเอียด ทั้งจะได้รับการชดเชยค่าเสียหายที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละกรณีมากขึ้นตามความเสียหายแท้จริงที่ได้รับ
ทั้งนี้ ขอให้ผู้ที่ใช้รถรุ่นดังกล่าว รอติดตามความคืบหน้าคำพิพากษาจากศาล ซึ่งสภาผู้บริโภคจะรายงานความคืบหน้าให้ผู้บริโภคทราบต่อไป สามารถติดตามได้ทาง เฟซบุ๊กเพจ "สภาองค์กรของผู้บริโภค"
ภาพบางส่วนจาก
- กลุ่ม Mazda CX-5 Help Club (Public)