10 ข้อ ที่คุณควรรู้ เมื่อคิดจะซื้อรถมอเตอร์ไซค์มือสอง ?
10 ข้อ ที่คุณควรรู้ เมื่อคิดจะซื้อรถมอเตอร์ไซค์มือสอง ?

1. ตรวจสภาพภายนอก

     ขั้นตอนแรกของการซื้อหาของมือสอง ก็คือการตรวจสอบสภาพภายนอก โดยรถมอเตอร์ไซค์ ต้องดูสภาพก่อนว่าพอใจหรือถูกใจขนาดไหน ถ้าถูกใจก็เข้าไปดูรายละเอียดกันต่อถึงเรื่องร่องรอยต่างๆ ซึ่งร่องรอยที่ว่านี่คือร่องรอยของการล้มนะครับ ไม่ใช่รอยขูดขีดเล็กๆ น้อยๆ เพราะบางที่แค่รอยขูดขีดอาจทำให้คุณพลาดสภาพภายในเจ๋งๆ ก็ได้ ร่องรอยของการล้มนั้นสามารถดูได้จากจุดที่ล้มแล้วจะโดนพื้นก่อน เช่น แฮนด์ แฟริ่งข้าง พักเท้า พวกนี้เวลาล้มแล้วจะโดนพื้นก่อนเสมอ แต่การล้มอย่างนี้เพียงอย่างเดียวก็เป็นการล้มแบบไม่หนักมาก แค่ไถลๆ เปลี่ยนอะไรใหม่ก็ดูดีเหมือนเดิม

     แต่สิ่งที่อยากให้สนใจเป็นพิเศษ คือ ตรวจสอบตัวถังรถว่ามีรอยเชื่อมใหม่มาหรือไม่ โช้กอัปหน้า-หลังมีการคดไหม สวิงอาร์มเป็นอย่างไร พวกนี้จะเกี่ยวกับการชน หรือล้มหนักๆ มาแล้ว ซึ่งสามารถสันนิษฐานได้ว่าอาจจะกระเทือนถึงเครื่องยนต์ได้ และเราก็ไม่ควรเสี่ยงเลือกรถคันนี้มาครอบครอง

2. ตรวจสภาพเครื่องยนต์ (เบื้องต้น)
 
     การตรวจดูสภาพเครื่องยนต์เบื้องต้นนั้นช่วยในการตัดสินใจได้พอสมควร ซึ่งทำได้โดยการซักถามข้อมูลจากตัวเจ้าของรถเช่น เคยชน หรือล้มมาหรือไม่? เคยเปลี่ยนอะไรภายในอะไรบ้าง? ปกติเปลี่ยนน้ำมันเครื่องทุกๆ กี่กิโลเมตร หรือครั้งสุดท้ายเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเมื่อไร? เครื่องยนต์ตัวนี้กินน้ำมัน น้ำมันเครื่องบ้างรึเปล่า? จากนั้นก็เอาข้อมูลนั้นมาประกอบกับการดูด้วยตาของเราเองอีกครั้ง เช่น มีรอยการเปิดฝาสูบมาหรือไม่ โดยให้ดูที่รอยต่อระหว่างฝาสูบกับเสื้อสูบว่ามีรอยของกาวแดง หรือร่องรอยที่ผิดปกติ (รอยใหม่ๆ) ส่วนที่ตีนเสื้อสูบก็ตรวจดูเช่นกัน และดูว่ามีร่องรอยน้ำมันเยิ้มมาก่อนหรือไม่

     ส่วนรถที่มีหม้อน้ำก็ดูรอยน้ำรั้วที่จุดข้อต่อต่างๆ รอยน้ำสนิมที่เป็นคราบในจุดต่างๆ ซึ่งรอยเหล่านี้นอกจากบอกให้เรารู้ว่าเคยมีรอยน้ำรั่วที่ใดบ้าง ในส่วนคาร์บูเรเตอร์ก็สังเกตว่าแห้งดีหรือไม่ มีกลิ่นน้ำมันโชยออกมามากรึเปล่า แต่ถ้าเป็นเครื่องหัวฉีดก็ผ่านไปครับดูด้วยตาเปล่าลำบาก พวกนี้ต้องจับปลั๊กเช็กเอา

3. ตรวจระบบเบรก

     เบรกถูกใช้งานหนักพอๆ กับเครื่องยนต์ การตรวจดูก็เริ่มจากการสังเกตท่อทางน้ำมันเบรกว่าอยู่ในสภาพดีหรือไม่ ตรงนี้สามารถบอกได้ว่าเจ้าของเอาใจใส่ดูแลรถดีแค่ไหน เพราะระบบเบรกเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมาก ซึ่งเกี่ยวกับความปลอดภัย ถ้าระบบนี้ไม่ได้ถูกดูแล ก็บ่งบอกว่าเจ้าของเก่านั้นไม่ได้รักษารถเท่าที่ควรแล้วจะหวังให้ไปดูแลเรื่องเครื่องยนต์ บอกเลยว่ายากครับ จากนั้นก็ตรวจเช็กพวกคาลิเปอร์เบรกกันว่ามีรอยกระแทกมั้ย เพราะอาจทำให้คาลิเปอร์เบี้ยวได้ ทีนี้ก็มาดูที่จานเบรกกันต่อว่ามีร่องรอยอะไรบางไหมเช่น จานคด จานไหม้ เพื่อนำข้อมูลไปต่อราคา (ถ้าชอบคันนี้จริงๆ นะ) พอดูด้วยตาเปล่าเรียบร้อยก็ลองหมุนล้อดูว่าเบรกมีการติดขัดอะไรหรือไม่ แล้วก็ลองเบรกดูทั้งล้อหน้า-ล้อหลัง ว่ามีเสียงอะไรผิดหูมั้ย ส่วนถ้าจะลองว่าเบรกลื่น เบรกได้ไหม อันนี้ต้องลองขับแล้วเบรกดู เพราะเรื่องเบรกต้องดูกันให้ดี

4. ตรวจช่วงหน้า - หลัง

     ช่วงหน้าในที่นี้เหมารวมหมด ตั้งแต่วงล้อ ยาง โช้กอัป ไฟหน้า ไฟเลี้ยว แผงคอ ฯลฯ พูดง่ายๆ คือ ครึ่งรถช่วงหน้าทั้งหมด ถามว่าดูทำไม? ก็ต้องบอกว่ามันต่อเนื่องจากการตรวจระบบเบรกหน้าครับ บางคันเบรกแน่น แต่ขายึดคาร์ลิปเปอร์เบี้ยวนิดเดียว ขับไปๆ เบรกก็ไม่อยู่ กินผ้าเบรกข้างเดียว แค่เรื่องเล็กๆ ก็อาจเป็นหายนะครั้งใหญ่ได้ ดังนั้นตรวจสอบให้ละเอียดเอาไว้ก่อนดีกว่า ลองโยกแผงคอดูว่าลูกปีนคอเป็นยังไงบ้าง ซีลโช้กอัปรั่วมั้ย ส่วนด้านหลังก็เช่นกัน โช้กอัปหลังของเดิม หรือเปลี่ยนมา ถ้าเป็นรถไม่เกิน 2 ปี แล้วมีการเปลี่ยนโช้กอัปใหม่ก็กระไรอยู่


5. ตรวจเรือนไมล์และระบบไฟ

     ดูเรือนไมล์ว่าเป็นของตรงรุ่นไหม เป็นของที่เปลี่ยนมาใส่ใหม่หรือเปล่า จากนั้นก็เปิดสวิตช์ ON ดูว่าไฟบอกสัญญาณทำงานทั้งหมดไหม หรือถ้ามีไฟเตือนอะไรขึ้นมาก็ต้องถามสาเหตุที่มาให้แน่นอนและชัดเจนครับ ไม่งั้นจะต้องมานั่งเสียค่าโง่เจ็บใจกันเปล่าๆ ยิ่งพวกบิ๊กไบค์นี่อย่าเสี่ยงดีกว่าครับ กล่องไฟตัวหนึ่งแพงเอาเรื่องทีเดียว

6. ตรวจตัวถัง

     ลองดูรอยบุบของโครง โดยเฉพาะบริเวณที่ใกล้ๆ ตำแหน่งรอยเชื่อม ให้ดูว่ามีรอยร้าวของรอยเชื่อมหรือไม่ เพราะในตำแหน่งใกล้รอยเชื่อมมันอันตรายหากเกิดการกระแทก อีกส่วนที่ควรตรวจดูคือ บริเวณรอยเชื่อมระหว่างโครงรถกับคอรถ ตรวจดูว่ารอยเชื่อมนั้นมีสีกระเทาะออกมาเหมือนโดนกระแทกมาหรือเปล่า ถ้ามีก็อาจจะชนมาจนคอเสียศูนย์ไปแล้ว (อันนี้ต้องลองขี่ดูนะครับ)

7. ตรวจสายยาง, สายไฟต่างๆ

     ให้ตรวจดูสายยาง ท่อ และสายไฟต่างๆ ดูว่ามีรอยชำรุด หรืออยู่ในสภาพใด ให้สังเกตว่าถ้ารถไม่เกิน 2-3 ปี พวกสายยาง ท่อ และสายไฟยังไม่ถึงอายุของมัน ถ้ามีการเปลี่ยนมาก็ให้ถามถึงสาเหตุที่เปลี่ยน และในส่วนสายไฟนั้น ให้ตรวจดูความเรียบร้อยของการเดินสายด้วย ในรถที่มีหม้อน้ำให้ลองบีบท่อน้ำดูว่ากรอบหรือแข็งหมดสภาพรึเปล่า

8. ตรวจท่อไอเสีย

     บริเวณคอท่อไอเสียกับปะเก็นท่อไอเสีย ดูว่าน็อตคอท่ออยู่ครบหรือหรือถูกเปลี่ยน เพราะส่วนมากจะมีปัญหาบริเวณนี้ จากนั้นดูสภาพของท่อไอเสีย โดยดูจากสนิมที่กิน เนื้อเหล็ก ไล่ตั้งแต่คอท่อ จากนั้นก็ไปดูที่ปลายท่อว่ามีอะไรเยิ้มเกาะมากไหม เพราะมันแสดงถึง สภาพเครื่องยนต์ได้ โดยส่วนมากเจ้าของก็จะเช็กมาแล้วแต่ยังไงก็ต้องมีคราบให้เห็นอยู่บ้าง เพียงแต่อย่าขี้เกียจก้มดูก็แล้วกัน


9. โซ่, สายพาน, เพลาท้าย
 
     ระบบส่งกำลังนอกจากจะถามเจ้าของถึงการเปลี่ยนแปลงหรือซ่อมบำรุงแล้ว ก็ต้องตรวจดูด้วยตัวเองควบคู่กันไปด้วย อย่างโซ่ก็ต้องดูทั้งระบบ ซึ่งหมายถึงสเตอร์หน้า - หลัง ว่าสึกหรอไปมากน้อยขนาดไหน ส่วนถ้าเป็นรถสายพานก็เปิดช่อง เช็กสายพานออกมาดูว่าสายพานมีสภาพเป็นอย่างไร ยึดไปแล้วมากน้อยแค่ไหน หรือถ้าเป็นแบบเพลาขับ - เฟืองท้าย ก็ต้องถามถึงการเปลี่ยนน้ำมันเฟืองท้ายครั้งล่าสุดรวมถึงเปิดดูสีและระดับน้ำมันจริงด้วย

10. ถึงเวลาลองเครื่อง

     ขอเขาลองสตาร์ทเครื่องดู ลองฟังเสียงดูว่ามีเสียงแปลกออกมาหรือแหลมออกมาไหม ถ้าไม่แน่ใจลองบิดเร่งรอบ แต่ควรหลีกเลี่ยงการเบิ้ลเครื่องอย่างรุนแรง ส่วนมากถ้าเครื่องสะอาด (เครื่องไม่เคยถูกเปิด) ก็มักจะมีแค่เสียงวาล์ว คราวนี้ลองขับดูครับ เพราะการลองขับนั้นตรวจสอบได้หลายอย่างมาก ตั้งแต่เรื่องเครื่องยนต์ เกียร์ เบรก โช้กอัป ฯลฯ เอาเป็นว่าก่อนจะซื้อต้องลองขี่ดูให้ได้ครับ หากไม่สามารถทดลองขับได้ก็อาจต้องหลีกเลี่ยงคันนั้นไป อีกเรื่องที่สำคัญเรื่องทะเบียนครับ จะโอน จะจ่ายเงิน หรือจะโอนลอยก็ขึ้นอยู่กับความสะดวก แต่ต้องตรวจเอกสารดูให้ดี ระวังไปเจอรถขโมย รถเถื่อน เดี๋ยวงานงอก แล้วจะหาว่าไม่เตือนกัน

 

Share:
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง