ทำไมต้องห้าม! มอเตอร์ไซค์ขี่ขึ้นสะพาน-ลอดอุโมงค์?
ทำไมต้องห้าม! มอเตอร์ไซค์ขี่ขึ้นสะพาน-ลอดอุโมงค์?

ตามข้อมูลราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ในเล่ม 133 ตอนพิเศษ 162 ง ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 22 กรกฎาคม 2559 “ข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการห้ามรถบางชนิดและล้อเลื่อนลากเข็น เดินบนสะพานข้ามทางร่วมทางแยก สะพานยกระดับ สะพานข้ามแม่น้ำ และในอุโมงค์ลอดทางร่วมทางแยก พ.ศ. 2559”

ด้วยสะพานข้ามทางร่วมทางแยก สะพานยกระดับ สะพานข้ามแม่น้ำ และอุโมงค์ลอด ทางร่วมทางแยก สร้างขึ้นเพื่อใช้สําหรับแก้ปัญหาการจราจรบริเวณทางร่วมทางแยกและบนถนน ที่มีการจราจรคับคั่ง โดยลักษณะทางกายภาพของสะพานข้ามและอุโมงค์ทางลอดต่าง ๆ ไม่ได้จัดช่องทางจราจรไว้สําหรับรถขนาดเล็กที่มีความเร็วต่ำ เช่น รถจักรยานยนต์ รถจักรยาน รถยนต์สามล้อ และล้อเลื่อนลากเข็น หากรถประเภทดังกล่าวเดินบนสะพานข้ามทางร่วมทางแยก สะพานยกระดับ สะพานข้ามแม่น้ำ และในอุโมงค์ลอดทางร่วมทางแยก ทําให้เกิดความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ส่งผลกระทบต่อปัญหาจราจรและเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ ทําให้ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนได้รับความเดือดร้อน ประกอบกับได้มีการทดลองห้ามรถประเภทดังกล่าวมาเป็นระยะเวลาพอสมควร ซึ่งสามารถลดปัญหาการจราจรได้และประชาชนส่วนใหญ่พึงพอใจ ดังนั้น เพื่อเป็นการปลอดภัย และสะดวกในการจราจร จึงจําเป็นต้องออกประกาศข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพถนนและการจราจรในปัจจุบัน

ฉะนั้น อาศัยอํานาจตามความในมาตรา139 (4) แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และคําสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 529/2555 ลงวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2555 แต่งตั้งผู้บัญชาการตํารวจนครบาล เป็นเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร ประกอบกับคําสั่งกองบัญชาการตํารวจนครบาล ที่ 402/2558 ลงวันที่ 30 ตุลาคม2558 เรื่อง การกําหนดลักษณะงานและการมอบหมายอํานาจหน้าที่รับผิดชอบให้รองผู้บัญชาการตํารวจนครบาล โดยมอบอํานาจให้รองผู้บัญชาการตํารวจนครบาล (งานจราจร) กํากับการบริหารราชการสั่งและปฏิบัติราชการแทนผู้บัญชาการตํารวจนครบาล จึงได้ออกข้อบังคับไว้ ดังนี้

ข้อ 1. ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการห้ามรถบางชนิดและล้อเลื่อนลากเข็นเดินบนสะพานข้ามทางร่วมทางแยก สะพานยกระดับ สะพานข้ามแม่น้ำ และในอุโมงค์ลอดทางร่วมทางแยก พ.ศ. 2559”

ข้อ 2. ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา(ประกาศ ณ 22 กรกฎาคม 2559 จึงมีผล 23กรกฎาคม 2559)

อย่างไรก็ดีปัจจุบันยังมีผู้ใช้มอเตอร์บางส่วนมองว่าการห้ามมอเตอร์ไซค์ขึ้นสะพานหรือลอดอุโมงค์นั้นไม่เป็นธรรมกับพวกเค้าเท่าไหร่นัก เนื่องจากบางจุดเมื่อใช้สะพานก็ไปได้รวดเร็วขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาติดไฟแดง หรืออย่างกรณีสะพานภูมิพลที่ห้ามมอเตอร์ไซค์ขึ้น ทำให้ผู้ขับขี่ต้องเสียเวลาใช้เรือข้ามฟากแทน และมีคำถามเกิดขึ้นตามมาว่าการนำมอเตอร์ไซค์ข้ามเรือนั้นปลอดภัยอย่างที่กล่าวอ้างจริงหรือไม่ ทั้งความแออัดเบียดในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน รวมทั้งมีอุปกรณ์ป้องกันใดที่การันตี บางส่วนเกิดคำถามว่าทั้งที่เป็นประชาชนคนไทยเสียภาษีเหมือนกันแต่ทำไมถึงใช้สะพานไม่ได้ อีกทั้งยังมีข้อเรียกร้องเรื่องให้สร้างช่องทางสำหรับมอเตอร์ไซค์บนสะพานอีกด้วย

การห้ามมอเตอร์ไซค์ลงอุโมงค์นั้นมีเหตุผลที่สำคัญอยู่หลายประการ ดังนี้

1. เรื่องของความปลอดภัย เนื่องจากภายในอุโมงค์จะมีกระแสลมและแรงอัดที่เกิดจากรถยนต์ที่วิ่งผ่าน ซึ่งอาจส่งผลให้รถจักรยานยนต์ที่โครงสร้างตัวถังเบากว่าเสียหลักได้ง่าย โดยเฉพาะในกรณีที่เจอกับรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่แล่นผ่าน นอกจากนี้ การมองเห็นในอุโมงค์มักจะจำกัดกว่าภายนอก ทำให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์อาจมองเห็นอันตรายได้ไม่ชัดเจนพอ

2. ลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นในอุโมงค์ รถจักรยานยนต์จะมีความเปราะบางและเสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บร้ายแรงมากกว่ารถยนต์ เนื่องจากไม่มีโครงสร้างที่แข็งแรงพอที่จะป้องกันการกระแทกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. รักษาความเรียบร้อยของการจราจรภายในอุโมงค์ รถจักรยานยนต์มักมีพฤติกรรมการขับขี่ที่หลากหลายและอาจไม่สอดคล้องกับกฎจราจร ทำให้เกิดการแซงซ้ายแซงขวา หรือเปลี่ยนเลนกระทันหัน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการจราจรติดขัดภายในอุโมงค์ได้

4. การออกแบบโครงสร้างของอุโมงค์ส่วนใหญ่จะคำนึงถึงความปลอดภัยของรถยนต์เป็นหลัก ดังนั้น ขนาดและรูปแบบของอุโมงค์อาจไม่เหมาะสมกับการสัญจรของรถจักรยานยนต์ โดยเฉพาะในส่วนของไหล่ทางหรือพื้นผิวถนนที่อาจไม่เรียบเสมอกัน


ทั้งนี้ การห้ามรถจักรยานยนต์ลงอุโมงค์เป็นมาตรการที่ออกแบบมาเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคน แม้ว่าผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์บางคนอาจรู้สึกไม่สะดวก แต่การปฏิบัติตามกฎจราจรก็เป็นสิ่งสำคัญเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และรักษาความเรียบร้อยในการจราจรภายในอุโมงค์

 

 

 

Share:
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง