ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 แบบนี้ หลายคนนอกจากจะใช้รถจักรยานยนต์ หรือรถมอเตอร์ไซค์ในการขี่ไปเที่ยวเล่นน้ำสงกรานต์ หรือเป็นไรเดอร์ที่ยังต้องขี่ส่งอาหาร เป็นบุรุษไปรษณีย์ขี่ส่งของ หรือเป็นพนักงานส่งพัสดุ ที่อาจยังต้องทำงานในช่วงสงกรานต์ก็ตาม
แต่ระหว่างขี่รถมอเตอร์ไซค์ อาจเจอพื้นเปียกจากคนเล่นน้ำบนถนน เจอคนสาดน้ำใส่ หรือเกิดลื่นจนเกิดอุบัติเหตุรถล้ม โดยที่ไม่มีคู่กรณี บาดเจ็บต้องเข้าโรงพยาบาล พ.ร.บ. จะให้ความคุ้มครองหรือไม่? Siamcar หาคำตอบมาให้ครับ
พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์ ให้ความคุ้มครองผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตทุกกรณีโดยไม่ต้องพิสูจน์ความผิด จึงครอบคลุมกรณีรถล้มเองแบบไม่มีคู่กรณี, เฉี่ยวชนแบบมีคู่กรณีแต่ยังไม่สามารถตัดสินถูกผิดได้ หรือแม้กระทั่งถูกชนแล้วหนี
สำหรับการรถล้มแบบไม่มีคู่กรณี ไม่ว่าจากถนนลื่น, ขับรถชน, ลื่นจากพื้นเปียก, ถูกหมาแมววิ่งตัดหน้า ฯลฯ จัดว่าเป็นเกิดอุบัติเหตุแบบไม่ต้องพิสูจน์ความผิด ซึ่ง พ.ร.บ. จักรยานยนต์ให้ความคุ้มครอง ดังนี้
- กรณีได้รับบาดเจ็บ วงเงินชดเชยสูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท/คน
- กรณีเสียชีวิต / ทุพพลภาพถาวร / สูญเสียอวัยวะ วงเงินชดเชยสูงสุดไม่เกิน 35,000 บาท/คน
- หากเข้าข่ายทั้งสองกรณี วงเงินชดเชยสูงสุดไม่เกิน 65,000 บาท/คน
ทั้งนี้ หากรถล้มทั้งผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้ายสามารถเบิกค่าชดเชยได้ทั้งคู่ภายใน 180 วัน หลังจากวันที่เกิดเหตุ และเมื่อยื่นเอกสารครบเรียบร้อยแล้ว จะได้รับเงินชดเชยภายใน 7 วันทำการ
รถล้มเอง เบิก พ.ร.บ. ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง?
กรณีเบิกค่ารักษาพยาบาล
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือ สำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือสำเนาหนังสือเดินทาง
- ใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาล (ฉบับจริงเท่านั้น)
กรณีสูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพถาวร
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือ สำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือสำเนาหนังสือเดินทาง
- ใบรับรองแพทย์
- หนังสือรับรองความพิการ
- สำเนาบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวน
กรณีเสียชีวิต
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือ สำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือสำเนาหนังสือเดินทาง
- ใบมรณบัตร
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และทะเบียนบ้านของทายาท และบัตรประจำตัวประชาชนของทายาท
- สำเนาบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวน
การยื่นเรื่องเบิกค่าชดเชยจาก พ.ร.บ. สามารถยื่นเรื่องกับบริษัทประกันภัยที่ซื้อไว้ หรือกับ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ โดยต้องดำเนินการภายใน 180 วันนับจากวันเกิดเหตุ จากนั้นจะได้รับค่าชดเชยภายใน 7 วันทำการ
สำหรับการจ่ายค่าเสียหาย ของบริษัทประกันภัย จะจ่ายให้กับผู้เสียหายที่แท้จริงเท่านั้น หากผู้เสียหายนั้นไม่สามารถมาดำเนินการด้วยตนเองได้ สามารถมอบอำนาจให้กับบุคคลหนึ่ง บุคคลใดที่ท่านไว้วางใจให้มาทำการแทนได้
โดยต้องมีหนังสือมอบอำนาจ พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจ และการจ่ายค่าเสียหายนั้น ทางบริษัทประกันภัยจะจ่ายเป็นเช็คชื่อผู้ประสบภัยที่แท้จริง เว้นแต่กรณีที่ผู้ประสบภัยเสียชีวิต บริษัทประกันภัยจะจ่ายเช็คให้กับทายาทโดยธรรมตามกฎหมายเท่านั้น
แหล่งที่มาจาก
- บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด
- คปภ.
- ภาพหน้าปกจาก มูลนิธิสยามรวมใจปู่อินทร์ - กรุงเทพฯ