"ล้างลิ้นปีกผีเสื้อ" จำเป็นแค่ไหน?
ลิ้นปีกผีเสื้อคืออะไร?
"ลิ้นปีกผีเสื้อ" เป็นชิ้นส่วนสำคัญในระบบไอดีของเครื่องยนต์ มีหน้าที่ควบคุมปริมาณอากาศที่เข้าสู่ห้องเผาไหม้ เมื่อใช้งานไปนานๆ ลิ้นปีกผีเสื้อจะสะสมคราบเขม่าและสิ่งสกปรกต่างๆ เช่น เขม่าคาร์บอน, เศษฝุ่นในอากาศ ฯลฯ ทำให้การทำงานของลิ้นปีกผีเสื้อไม่ราบรื่น ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ จึงจำเป็นต้องมีการล้างลิ้นปีกผีเสื้อนั่นเอง
อาการแบบไหนต้องล้างลิ้นปีกผีเสื้อ?
หากว่ารถมีอาการเหล่านี้ มีความเป็นไปได้สูงว่าเกิดจากลิ้นปีกผีเสื้อสกปรก การล้างลิ้นปีกผีเสื้ออาจช่วยให้เครื่องยนต์กลับมาสมบูรณ์ดังเดิม
- รอบเดินเบาไม่นิ่ง - หากลิ้นปีกผีเสื้อสกปรก อาจส่งผลให้เครื่องยนต์ทำงานไม่นิ่ง เกิดอาการรอบสวิงแกว่งขึ้นลงไปมา หรือเกิดการสั่นของเครื่องยนต์ และหากสกปรกมากอาจถึงขั้นทำให้เครื่องยนต์เบาดับได้
-อัตราเร่งไม่ทันใจ - ลิ้นปีกผีเสื้อที่สกปรกมาก อาจทำให้การตอบสนองของคันเร่งช้าลง ปริมาณอากาศที่ไหลเข้าห้องเผาไหม้น้อยกว่าปกติ ทำให้รู้สึกว่ารถเร่งไม่ขึ้นได้
-เปลืองน้ำมัน - เครื่องยนต์ต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อดึงอากาศภายนอกเข้ามาเผาไหม้ ทำให้รถสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงมากขึ้น
-ปัญหาเซ็นเซอร์ - คราบสกปรกอาจไปเกาะตามเซ็นเซอร์ต่างๆ ที่อยู่บริเวณลิ้นปีกผีเสื้อ ทำให้เซ็นเซอร์ทำงานผิดพลาด ส่งผลต่อการทำงานของระบบควบคุมเครื่องยนต์ อาการอาจเกิดได้หลายอย่างตั้งแต่เครื่องเดินไม่เรียบ ไปจนถึงไฟเอนจิ้นฟ้องบนหน้าปัด
ล้างลิ้นปีกผีเสื้อทุกกี่กิโลเมตร?
การล้างลิ้นปีกผีเสื้อไม่มีกำหนดระยะเวลาชัดเจน แต่จะขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น หากขับรถในเมืองที่มีฝุ่นควันมาก หรือใช้งานรถยนต์หนัก อาจต้องล้างบ่อยขึ้น หรือหลายคนเลือกที่จะล้างลิ้นปีกผีเสื้อทุก 100,000 กม. หรือเมื่อรถมีอาการ
ขั้นตอนการทำความสะอาดลิ้นปีกผีเสื้อ
1. ปลดเข็มขัดรัดท่อกรองอากาศ แล้วดึงท่อออกจากลิ้นปีกผีเสื้อ
2. สังเกตคราบน้ำมัน ต้องทำความสะอาดบริเวณนี้ออกให้หมด
3. ปลดปลั๊กสายไฟ และดึงสายคันเร่งออกจากลิ้นปีกผีเสื้อ
4. ใช้ประแจขันนอททั้ง 4 ตัว ออกให้หมด
5. ฉีดสเปรย์ทำความสะอาดลิ้นปีกผีเสื้อ ลงไปที่คราบน้ำมัน
6. ใช้แปรงปัดทำความสะอาด หากไม่ออก ให้ฉีดสเปรย์ลงไปให้ชุ่มอีกครั้ง
7. นำลิ้นปีกผีเสื้อวางลงไปยังตำแหน่งเดิม ขันนอททั้ง 4 ตัว
8. ใส่ขั้วปลั๊กไฟ และสายคันเร่ง
9. ใส่ท่อกรองอากาศกลับไปยังตำแหน่งเดิมให้เรียบร้อย เป็นอันเสร็จ