เพิ่งรู้วันนี้! สัญญาณไฟฉุกเฉินใช้ได้เฉพาะ 2 กรณีนี้เท่านั้น ถึงจะถูกต้อง?
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกับ ไฟฉุกเฉิน กันก่อน
ไฟฉุกเฉิน หรือ ไฟผ่าหมาก (hazard lights) คือไฟที่เป็นรูปสามเหลี่ยมสีแดง ๆ ในรถยนต์ เมื่อเปิดแล้วจะเป็นไฟกระพริบที่ไฟหน้าและท้ายรถพร้อม ๆ กัน ไฟฉุกเฉินมีเอาไว้เปิดเมื่อยามฉุกเฉินบนท้องถนนเท่านั้น เช่น รถเสีย หรือ เมื่อต้องจอดรถยนต์ฉุกเฉินข้างทาง เป็นต้น เราควรเรียนรู้การใช้ไฟฉุกเฉินที่ถูกต้องและถูกกฎหมาย เพื่อความปลอดภัยบนท้องถนนและลดอุบัติเหตุร้ายแรง อันตรายถึงชีวิต
ไฟฉุกเฉินเปิดใช้งานได้ 2 กรณีนี้เท่านั้น
1. รถจอดเสียอยู่กับที่ - กฎหมายกำหนดให้ใช้ไฟฉุกเฉินเฉพาะกรณีรถที่จอดเสียอยู่กับที่เท่านั้น เนื่องจากไฟฉุกเฉินถูกกำหนดให้ใช้เฉพาะกรณีมีเหตุฉุกเฉิน เช่น รถประสบอุบัติเหตุ หรือจอดเสียกีดขวางจราจร จะเป็นการเตือนผู้ขับขี่ที่ขับตามหลังมาให้เพิ่มความระมัดระวัง
การเปิดไฟฉุกเฉินขณะจอดรถในที่ห้ามจอด หรือจอดรถกีดขวางจราจร ถือเป็นความผิดตามกฎหมายอยู่ดี เนื่องจากเป็นการกีดขวางจราจร ทำให้จราจรติดขัด มีโทษปรับสูงสุด 500 บาท
2. รถเบรกกะทันหัน - กรณีรถเบรกกะทันหันเนื่องจากข้างหน้ามีอุบัติเหตุ หรือเบรกตามกันมา อาจเปิดไฟฉุกเฉินเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ จนกว่ารถที่ตามมาด้านหลังจะหยุดสนิท จะช่วยลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุชนท้ายลงได้
แนวทางการปฏิบัติตน เมื่อฝนตกหนัก ควรหลีกเลี่ยงการเปิดไฟฉุกเฉินระหว่างขับขี่ ควรเปลี่ยนมาขับขี่ด้วยความเร็วต่ำและเปิดไฟหน้าปกติแทน รวมไปถึงไม่ควรเปลี่ยนเลนหรือขับชิดคันหน้าเกินไปหากไม่จำเป็น
ในกรณีที่ผู้ขับขี่เจอกับสภาพอากาศที่แย่มาก ๆ มองไม่เห็นรถยนต์หรือไฟรถยนต์ของคันข้างหน้าเลย เราสามารถเลือกใช้ไฟตัดหมอกได้เช่นกัน เพื่อให้ผู้ขับขี่ท่านอื่นบนท้องถนนเห็นคันของเราจากระยะไกลได้ดีขึ้น เมื่อสภาพอากาศดีขึ้นแล้ว ควรปิดไฟตัดหมอกทันที เพื่อป้องกันไม่ให้แสงแยงตาผู้ขับขี่รถยนต์คันอื่น เท่านั้นเราก็สามารถใช้ไฟฉุกเฉินได้อย่างถูกต้องและปลอดภัยในการขับขี่มากยิ่งขึ้น