ถอดรองเท้าขับรถ เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุอันตรายถึงชีวิต!
ถอดรองเท้าขับรถ เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุอันตรายถึงชีวิต!

ถอดรองเท้าขับรถ ทำให้เกิดการบาดเจ็บของเท้า

การเหยียบคันเร่งหรือเหยียบเบรก โดยออกแรงใช้กล้ามเนื้อส่วนเดิมซ้ำๆ เป็นเวลานาน อาจเกิดอาการเกร็งเท้าจนเป็นตะคริวได้ โดยเฉพาะการขับรถเกียร์ออโต้ ที่ส่วนใหญ่จะใช้เท้าขวาในการขับขี่ และยังทำให้เกิดพังผืดหรือส้นเท้าอักเสบได้

ถอดรองเท้าขับรถอาจจะทำให้เท้าลื่น
สำหรับคนที่เหงื่อออกเท้ามากๆ อาจทำให้การเหยียบคันเร่งหรือเบรกลื่นไถลได้ ยากต่อการควบคุมรถ อาจเบรกไม่ทันต่อเหตุการณ์ฉุกเฉินได้

รองเท้าขัดเบรก เป็นสาเหตุที่อันตรายที่สุด
หากถอดรองเท้าแล้ววางไว้ด้านฝั่งคนขับ แล้วรองเท้าลื่นไหลเข้าไปติดอยู่ใต้เบรกหรือคันเร่ง จะทำให้ควบคุมรถไม่ได้ นำมาสู่การเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง

รองเท้าที่เหมาะกับการขับรถ


• รองเท้าที่ใส่แล้วกระชับ น้ำหนักเบา เพื่อการเคลื่อนไหวที่ดี เหยียบเบรกหรือคันเร่งได้สะดวก

• เลือกรองเท้าที่มีคุณสมบัติเป็นพื้นยางจะช่วยให้ยึดเบรกหรือคันเร่งได้ดี

รองเท้าที่ควรหลีกเลี่ยงตอนขับรถ
• รองเท้าส้นสูง รองเท้าพื้นหนาหรือส้นตึก ทำให้ไม่สะดวกต่อการขยับเท้า จุดหมุนของข้อเท้าเปลี่ยนไป กะระยะแป้นเหยียบได้ยาก

• รองเท้าแตะที่ลื่นหลุดง่าย ทำให้เกิดความสับสนในการควบคุมแป้นเบรกหรือเบรกเกิดอันตรายขณะขับรถได้

ที่สำคัญ เราไม่ถอด ไม่เสี่ยง ไม่วางสิ่งของฝั่งคนขับ ตรวจใต้เบาะก่อนออกรถ หรือหากจำเป็นต้องถอดรองเท้าหรือวางสัมภาระ ควรวางไว้ฝั่งข้างคนขับหรือด้านหลังคนขับจะปลอดภัยที่สุด

นอกจากนี้ทราบหรือไม่ว่าการถอดรองเท้าขับรถ อาจมีผลเสียมากกว่าที่คิด และนี่คือ 4 เรื่องที่อาจจะเกิดขึ้นจากการถอดรองเท้าขับรถ

1. เท้าเหม็น
บางคนคิดว่าอาการเท้าเหม็นเกิดจากใส่ถุงเท้าหนา รองเท้าผ้าใบไม่ซัก แต่จริง ๆ แล้ว เท้าเหม็นเกิดจากการสะสมของแบคทีเรีย ยิ่งถอดรองเท้าขับรถแล้วเหงื่อที่เท้าออกมามากจะถือว่าค่อนข้างเสี่ยง เพราะเท้าที่สัมผัสคันเร่งกับเบรกแทบจะตลอดเวลาจะทำให้เท้าด้านแล้วยังสะสมแบคทีเรีย เป็นสาเหตุทำให้มีกลิ่นอีกด้วย 

2. เท้าเปียกจนลื่น ทำข้อเท้าพลิก
ข้อนี้แบ่งออกเป็น 2 กรณี อย่างแรกคือ เท้าเปียกเพราะเป็นคนเหงื่อเยอะ อย่างที่สองคือเท้าเปียกเพราะความชื้นเนื่องจากฝนตก ความชื้นจากภายนอกเข้ามาในรถ ซึ่งเมื่อเท้าเปียกจนลื่นอาจทำให้เกิดการเหยียบเบรก เหยียบคันเร่ง พลาดได้ โดยเฉพาะจังหวะฉุกเฉินอาจทำให้ข้อเท้าพลิกเลยก็ได้

3. เกิดการบาดเจ็บ ฝ่าเท้าเป็นพังผืด รองช้ำอักเสบที่ส้นเท้า

ในการขับรถแบบเกียร์ธรรมดา เท้าซ้าย-เท้าขวาของเราจะลงน้ำหนักไม่เท่ากัน ส่วนในการขับแบบเกียร์ออโต้ เท้าซ้ายแทบจะไม่ได้ใช้เลย และการออกแรงใช้กล้ามเนื้อส่วนเดิมซ้ำ ๆ เป็นเวลานานอาจเป็นสาเหตุให้เกิดพังผืด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ส้นเท้า ในระยะยาวอาจมีอาการปวดบวมอักเสบ ส่งผลต่อการเดินได้ ใครที่ชอบถอดรองเท้าขับรถแล้วมีอาการปวดส้นเท้าตอนเช้า และอาการดีขึ้นตอนสาย อาจจะเป็นสาเหตุจากกรณีนี้ 

4. ผิดกฎหมาย
กฎหมายห้ามใส่รองเท้าแตะหรือการถอดรองเท้าขับรถมีอยู่จริง แต่บังคับใช้กับผู้ขับขี่รถรับจ้าง รถสาธารณะ รวมไปถึงรถแท็กซี่, รถจักรยานยนต์สาธารณะ หรือรถนำเที่ยว ฯลฯ เท่านั้น เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยของผู้ประกอบอาชีพให้บริการนั่นเอง โดยไม่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ส่วนบุคคล

โดย พ.ร.บ.การขนส่งทางบก มาตรา 102 (1) และกฎกระทรวง พ.ศ. 2555 ระบุว่า “ในขณะขับรถรับจ้าง รถยนต์สาธารณะ ผู้ขับขี่ต้องแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อยรัดกุม และสวมใส่รองเท้าหุ้มส้นหรือหุ้มข้อ หากฝ่าฝืนจะถูกระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ตามมาตรา 127”


Cr. กรมขนส่งทางบก 

 

Share:
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง