รู้หรือไม่! เปิดแอร์หลับในรถ อันตรายถึงชีวิต
รู้หรือไม่! เปิดแอร์หลับในรถ อันตรายถึงชีวิต

สตาร์ทรถนอนสบาย อาจตายไม่รู้ตัว ผู้เชี่ยวชาญแนะสาเหตุนอนในรถที่ติดเครื่องเปิดแอร์อาจถึงตายได้ ? 

การสตาร์ทเครื่องแล้วเปิดแอร์นอนในรถ มีให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ ล่าสุดไม่นานมานี้ กรณีการเสียชีวิตของชาย และหญิงภายในรถเก๋ง ที่จอดอยู่ปากซอยพัฒนาการ โดยตรวจพบว่าก่อนเกิดเหตุทั้งคู่ได้ติดเครื่อง เปิดแอร์จอดนอนในรถ จนกระทั่งเสียชีวิต 

สาเหตุการเสียชีวิตขณะเปิดแอร์นอนในรถ
ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านทาง Facebook ระบุว่า สาเหตุการเสียชีวิต (ซึ่งต้องรอการวินิจฉัยอย่างเป็นทางการจากแพทย์) คิดว่าก็คงคล้ายกับรายอื่นๆ ก่อนหน้านี้ คือ ได้รับแกสคาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon monoxide) หายใจเข้าไประหว่างที่หลับ เม็ดเลือดแดงทำงานผิดปกติ ร่างกายขาดแกสออกซิเจนจนเสียชีวิต
 
“ผมเชื่อว่า น่าจะมาจากการได้รับแกสคาร์บอนมอนอกไซด์ ที่มาจากเครื่องยนต์ที่สันดาปเผาไหม้เชื้อเพลิงอย่างไม่สมบูรณ์ รั่วซึมเข้ามาในห้องโดยสารรถ ซึ่งไม่ได้เปิดกระจกระบายอากาศไว้ ทำให้แกสเป็นพิษต่อเลือด และเสียชีวิตได้ในที่สุด”

ผลกระทบต่อร่างกาย
ข้อมูลจากโรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายไว้ว่า โดยปกติ ขณะที่รถยนต์ขับเคลื่อนไปบนท้องถนน จะมีการไหลเวียนของอากาศภายนอก และภายในอยู่เสมอ ด้วยการถ่ายอากาศเสียออกทางท่อไอเสีย แล้วรับอากาศที่ดีเข้ามา แต่ถ้าหากรถยนต์จอดสนิท แล้วติดเครื่องเอาไว้ เครื่องยนต์จะเกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ และทำให้เกิดแกสคาร์บอนมอนอกไซด์ขึ้น โดยไม่มีการถ่ายเทออกไป อากาศเสียก็จะวนเวียนอยู่ภายใน ไม่ไปไหน ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย

เมื่อได้รับเข้าสู่ร่างกายแกสชนิดนี้จะไปแย่งออกซิเจนจับตัวกับเม็ดเลือดแดง ซึ่งจับได้ง่ายกว่าออกซิเจนหลายเท่า ทำให้การลำเลียงออกซิเจนไปยังเนื้อเยื่อไม่เพียงพอ ร่างกายจะขาดออกซิเจน และอ่อนเพลีย เวียนศีรษะ เกิดอาการเลือดเป็นกรด ทำงานไม่ปกติ ซึม ชัก และเสียชีวิตในที่สุด

ระดับแกสคาร์บอนมอนอกไซด์ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายจะอยู่ที่ 1-200 ppm เมื่อได้รับเข้าไปในเวลา 4 ชั่วโมง ร่างกายจะเริ่มอ่อนเพลีย ปวดเมื่อย และเวียนศีรษะ จากนั้นจะอยากนอน ซึ่งถ้านอนเปิดแอร์โดยไม่ดับเครื่องยนต์ก็จะยิ่งส่งผลเสีย และเป็นอันตรายถึงชีวิต

นอนในรถอย่างไรให้ปลอดภัย

1. ตั้งเวลาในการนอน ให้ร่างกายพักฟื้นฟู ประมาณ 15-20 นาที

2. ห้ามนอนจนนานเกินไป อาจมีอันตรายถึงชีวิตโดยไม่รู้ตัว

3. เลือกจุดจอดรถที่ปลอดภัย เช่น ปั๊มน้ำมัน จุดพักรถ

4. ดับเครื่องยนต์ ลดกระจกลงทั้ง 4 บาน

5. ล็อกรถป้องกันการถูกขโมยทรัพย์สิน

6. ผู้ขับขี่ทางไกล นักดื่ม นักเที่ยวกลางคืน โปรดระวัง นอนในรถจนหลับลึก อันตรายถึงชีวิต


Cr. ขับขี่ปลอดภัย by DLT สำนักสวัสดิภาพการขนส่งทางบก

 

 

 

 

 

Share:
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง