เผยเทคนิค ขับรถขึ้น-ลงเขาอย่างปลอดภัย ทั้งเกียร์ออโต้และเกียร์ธรรมดา
เผยเทคนิค ขับรถขึ้น-ลงเขาอย่างปลอดภัย ทั้งเกียร์ออโต้และเกียร์ธรรมดา

ขับรถขึ้นเขาต้องควมคุมเบรก

เช็คระบบเบรกก่อนออกเดินทาง ว่าอยู่ในสภาพปกติเพราะเบรก คือ หัวใจสำคัญอันดับหนึ่งในการขับรถอย่างปลอดภัย โดยเฉพาะขาลงเขาไม่ควรเหยียบแช่ยาว เพราะอาจทำให้เบรกไหม้ได้


โดย วิธีที่ถูกต้อง คือ แตะเบรกเป็นระยะ ในจังหวะที่จำเป็นเท่านั้น เผื่อระยะเบรกเพิ่มขึ้นในขาลง เพราะความลาดชันบวกกับน้ำหนักของตัวรถทำให้รถเบรกได้ช้าลง เช่น ปกติเราอาจเว้นระยะประมาณ 2 ช่วงคันรถระหว่างคันเรากับท้ายคันหน้า ก็ควรเพิ่มเป็น 3 ช่วงคันรถ หรือมากกว่าเพื่อให้แน่ใจว่าเบรกทัน หากเกิดเหตุการณ์ต้องเบรกกระทันหัน

 

เทคนิคขับรถขึ้นเขาด้วยเกียร์ธรรมดา

ขับรถขึ้นเขาด้วยเกียร์ธรรมดาหรือเกียร์กระปุกนั้น ผู้ขับขี่จะต้องควบคุมทุกอย่างด้วยตนเอง ตั้งแต่การเข้าเกียร์ เปลี่ยนเกียร์ หรือการถอนเท้าออกจากคลัตช์ โดยจะต้องมีความเหมาะสมกับสภาวะการขับขี่ในตอนนั้นด้วย

ดังนั้นสำหรับการขับรถขึ้นเขาที่เป็นทางชัน ก็จะต้องใช้เกียร์ต่ำ เช่น เกียร์ 1 หรือ เกียร์ 2 เท่านั้น และหากรู้สึกว่ารถเริ่มแรงตกก็ให้ลดเกียร์ลงมา เช่น ขับมาเกียร์ 2 แล้วเจอทางชันมากกว่าเดิมก็ให้ลดมาที่เกียร์ 1 รถจะมีกำลังมากขึ้น

สำหรับผู้ขับรถมือใหม่ที่ไม่เคยขับรถขึ้นเขา ขับรถลงเขาเลย บางครั้งอาจจะคาดการณ์ไม่ถูกว่าจะต้องพบเจอกับทางที่มีความชันมากน้อยแค่ไหน เพราะฉะนั้นเมื่อเวลาขับรถให้คิดเสมอว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่ขับรถขึ้นเขาแล้วเจอทางชัน ทำให้รถวิ่งช้าลงกว่าเดิม ควรเปลี่ยนเป็นเกียร์ต่ำ อย่างเช่นเกียร์ 2 หรือ เกียร์ 1 เพราะถ้าฝืนใช้เกียร์เดิมต่อไป หรือเปลี่ยนเป็นเกียร์สูงกว่าเดิมก็จะทำให้เครื่องยนต์ไม่มีกำลังมากพอในการพารถขึ้นเขาได้ เสี่ยงทำให้รถดับกลางทางและเกิดอุบัติเหตุได้ นอกจากนั้นการฝืนใช้เกียร์สูงในการขับรถขึ้นเขาหรือทางชัน ยังส่งผลให้ระบบเกียร์สึกหรอและพังเร็วกว่าเดิมอีกด้วย

เทคนิคขับรถลงเขาด้วยเกียร์ธรรมดา

หลายคนอาจจะยังสงสัยว่าการขับรถลงเขาต้องใช้เกียร์อะไร ซึ่งทางเราก็บอกได้เลยว่าใช้เกียร์ต่ำอย่างเกียร์ 1 และเกียร์ 2 แบบเดียวกับตอนขับขึ้นเขาเลย เพียงแค่ใช้เกียร์ให้เหมาะกับความเร็วในการขับลงเขา หากทางชันมากให้ใช้เกียร์ 1 พร้อมกับคอยแตะเบรกสลับการปล่อยเบรก เพื่อรักษาความเร็วและรอบเครื่องยนต์ให้เหมาะสม ไม่ให้รอบเครื่องสูงเกินไป

หากทางลงเขาเป็นลักษณะทางยาวๆ ที่สามารถใช้ความเร็วได้ในระดับนึง ก็สามารถใช้เกียร์ 2 หรือเกียร์ 3 ได้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ขับขี่รถยนต์ แต่ต้องพิจารณาโดยคำนึงเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก โดยระวังไม่ให้รถไหลลงเขาเร็วเกินไปเพราะหากเกิดเหตุกระทันหันจะได้สามารถควบคุมรถได้ทันและไม่เสียการทรงตัว

เทคนิคขับรถขึ้นเขาด้วยเกียร์ออโต้

สำหรับเกียร์ออโต้ ซึ่งเป็นระบบเกียร์ที่ถูกออกแบบมาให้ผู้ขับขี่ขับรถได้สะดวกสบายมากขึ้น ทำให้การขับรถบนถนนทางเรียบ หรือถนนหลวง ก็สามารถใช้เกียร์ D ได้เลย แต่สำหรับการขับรถเกียร์ออโต้ขึ้นเขานั้นไม่สามารถใช้แต่เกียร์ D ได้

ในรถเกียร์ออโต้จะมีเกียร์สำหรับขึ้นทางชัน ซึ่งเป็นการบังคับให้รถขับเคลื่อนด้วยเกียร์ต่ำ ดังนี้

เกียร์ D3 เกียร์นี้จะจำกัดรอบวิ่งของเราให้อยู่แค่เกียร์ 1-3 (เมื่อเทียบกับเกียร์ธรรมดา) เพื่อป้องกันไม่ให้เกียร์เปลี่ยนกลับไปกลับมาบ่อยๆ ระหว่างเกียร์ 3 และเกียร์ 4 ทำให้รถมีรอบวิ่งต่ำลง แต่แรงม้าเท่าเดิม หากเราใช้เกียร์สูง รอบวิ่งจะสูงขึ้น แต่แรงม้าจะต่ำลง ดังนั้นการใช้เกียร์ D3 จึงเหมาะกับการขับรถขึ้น-ลงเนินเขา
เกียร์ D2 หรือ 2 เกียร์นี้จะทำให้รถยนต์วิ่งอยู่ที่เกียร์ D2 เท่านั้นตั้งแต่ออกตัวเพื่อลดอาการล้อบิด หรือ ออกตัวด้วยความเร็ว ทำให้ไม่เกิดการล้อฟรีเหมาะกับการวิ่งบนพื้นผิวที่ลื่น และเสี่ยงต่อการล้อฟรี เช่น หล่มโคลน
เกียร์ D1 หรือ L เกียร์นี้จะวิ่งด้วยเกียร์ 1 เท่านั้น เหมาะสำหรับจังหวะที่ต้องใช้ความเร็วต่ำมาก และต้องใช้เบรกบ่อย เช่น การลงจากเนินเขาที่มีความชันมากๆ หรือการไต่เนินเขาสูงๆ อย่างไรก็ตามหากใช้เกียร์ต่ำไม่ถูก เครื่องยนต์อาจจะทำงานด้วยรอบสูงเกินไป ซึ่งนอกจากจะทำร้ายสภาพเครื่องยนต์แล้วหากโชคร้ายอาจจะทำให้เครื่องดับ เกิดอุบัติเหตุได้ ที่สำคัญ อย่าใช้เกียร์ว่างในขณะลงเนินชันหรือลงเขาโดยเด็ดขาด! เพราะจะทำให้รถไหลลงด้วยความเร็วสูง โดยไม่มีแรงหน่วงของเครื่องยนต์ เกียร์ S สำหรับรถยนต์บางรุ่นจะมีเกียร์ S หรือ เกียร์ Sport มาด้วย ซึ่งจะเป็นการสั่งงานให้ระบบเกียร์และคันเร่งตอบสนองไวขึ้น ในขณะเดียวกันก็เป็นการสั่งงานให้ระบบเกียร์ทำการเปลี่ยนเกียร์ที่รอบเครื่องยนต์สูงขึ้นกว่าปกติ เป็นการลากรอบเครื่องยนต์สูงๆ ไว้เพื่อให้มีกำลังแรงม้าและแรงบิด เตรียมพร้อมสำหรับการเร่งทะยานไปต่อ ซึ่งในรถยนต์บางรุ่นนั้นก็ถูกออกแบบมาให้สามารถใช้เกียร์ S ขึ้นเขา แทนเกียร์ต่ำอย่าง D2 หรือ L โดยเมื่อผู้ขับขี่ใช้เกียร์ S ขึ้นเขาหรือลงเขาที่มีทางชันมากๆ ระบบเกียร์จะปรับตำแหน่งเกียร์ให้เหมาะสม เพื่อให้เครื่องยนต์มีสถานะพร้อมเร่งขึ้นเนินไปต่อ และเมื่อลงเนินก็จะปรับเกียร์ลงอย่างเหมาะสม เพื่อฉุดตัวรถและชะลอความเร็วลงได้เป็นอย่างดี เกียร์ M หรือ Manual รถยนต์เกียร์ออโต้บางรุ่นก็จะมีเกียร์ M มากับรถด้วย ผู้ขับขี่สามารถปรับตำแน่งเกียร์ได้ตามต้องการ โดยไม่ต้องทำการเหยียบคลัตช์เพื่อเปลี่ยนเกียร์ ซึ่งในขณะขับรถขึ้นเขา หรือขับรถลงเขาก็สามารถ ปรับตำแหน่งเกียร์ได้ตามความเหมาะสม หลักการเดียวกันกับรถเกียร์ธรรมดา หากขับรถขึ้นหรือลงทางชันมากๆ ก็ให้ใช้เกียร์ต่ำอย่างเกียร์ M1 และ M2 เกียร์ B อีกเกียร์ที่ไม่ค่อยเป็นที่คุ้นเคยกัน สำหรับผู้ขับขี่บางท่านที่ใช้รถยนต์เกียร์ออโต้ที่มีเกียร์ B อาจจะสงสัยว่า เกียร์ B ใช้ตอนไหนถึงจะเหมาะ? เกียร์ที่ว่านี่คือเกียร์ Brake ซึ่งในความหมายก็คือเอาไว้ใช้เบรก หรือเพื่อลดความเร็วรถลงนั่นเอง ทำหน้าที่เหมือนกับเกียร์ D1 หรือเกียร์ L เลย แต่จะเหมาะกับการใช้ตอนขับลงเขามากกว่าขับขึ้น

เทคนิคขับรถลงเขาด้วยเกียร์ออโต้

การขับรถลงเขาด้วยเกียร์ออโต้นั้น สามารถใช้หลักการเดียวกับการขับรถลงเขาด้วยเกียร์ธรรมดาเลย คือ ห้ามใช้เกียร์ N หรือเกียร์ว่าง เพราะจะทำให้รถไหลลงด้วยความเร็วสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีกำลังฉุดจากเครื่องยนต์ เสี่ยงต่อการเสียการควบคุมรถ และเกิดอุบัติเหตุได้ ซึ่งวิธีการขับรถลงเขาด้วยเกียร์ออโต้ที่ถูกต้อง คือใช้เกียร์ต่ำอย่าง D1 หรือ D2 หรือ เกียร์อื่นๆ ที่มีติดมากับตัวรถ และมีความเหมาะสมตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น เพื่อช่วยให้รถมีความเสถียรในการลงเขา โดยมีแรงฉุดหน่วงๆ ทำให้ขับรถลงเขาได้อย่างปลอดภัย และที่สำคัญก็คืออย่าลืมเหยียบเบรกสลับปล่อยเบรกเป็นระยะ ตามความเหมาะสม เพื่อคอยควบคุมไม่ให้รอบเครื่องยนต์ขึ้นสูงเกินไป รวมทั้งไม่เหยียบคันเร่งยาวๆ เมื่อลงเนิน


ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นทริคการขับรถขึ้น - ลงภูเขาให้ปลอดภัย เพื่อนๆ คนไหนที่มีแพลนขับรถขึ้นเขาไปชมทะเลหมอก หรือ สัมผัสอากาศเย็นละก็อย่าลืมนำไปปรับใช้ ควบคู่กับการปฏิบัติตามกฎจราจรไปด้วยนะครับ 

 

 

Share:
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง