น้ำมันเครื่อง คือสารหล่อลื่นที่ช่วยลดการเสียดสี และการสึกหรอของโลหะภายในเครื่องยนต์ เปรียบเสมือนหัวใจของรถยนต์เลยก็ว่าได้ ลองนึกภาพตามดูว่า ขณะที่เครื่องยนต์ของเรามีการเคลื่อนไหว แน่นอนว่าชิ้นส่วนต่าง ๆ ย่อมมีการเสียดสีเป็นธรรมดา ซึ่งน้ำมันเครื่องจะคอยทำหน้าที่เป็นฟิล์มไปเคลือบ และคั่นกลางชิ้นส่วนโลหะต่าง ๆ ที่อยู่ภายใน เพื่อช่วยลดการเสียดสี รวมถึงลดการสึกหรอของวัตถุนั่นเอง ประโยชน์ของน้ำมันเครื่องยังไม่หมดแค่นั้น เพราะน้ำมันเครื่องยังช่วยป้องกันสนิม และการกัดกร่อนของชิ้นส่วนเครื่องยนต์ ช่วยระบายความร้อนเครื่องยนต์ รวมถึงช่วยรักษาความสะอาดภายในเครื่องยนต์อีกด้วย โดยน้ำมันเครื่องที่วางจำหน่ายตามท้องตลาดก็มีหลายประเภท การเลือกใช้งานให้เหมาะสมจะช่วยให้รถคู่ใจของเราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นเอง
ประเภทของน้ำมันเครื่องที่คุณควรรู้จัก
.น้ำมันเครื่องธรรมดา (Synthetic) หรือเรียกอีกชื่อว่า “น้ำมันเครื่องปิโตรเลียม” เพราะผลิตจากน้ำมันหล่อลื่นที่กลั่นจากน้ำมันปิโตรเลียม มีราคาถูกสุด และมีอายุการใช้งานสั้นที่สุด สามารถใช้งานได้ประมาณ 3,000-5,000 กิโลเมตร
.น้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ (Semi Synthetic) เป็นน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้น้ำมันธรรมชาติเป็นฐาน แล้วเติมสารสังเคราะห์เพิ่มเพื่อให้มีคุณสมบัติสูงขึ้น พูดง่าย ๆ ว่าการผสมกันระหว่างน้ำมันเครื่องสังเคราะห์แท้กับน้ำมันจากธรรมชาตินั่นเอง สามารถใช้งานได้ประมาณ 7,000 กิโลเมตร ส่วนราคาก็จะอยู่ในระดับปานกลาง ไม่แพงมากจนเกินไป
.น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ (Fully Synthetic) หรือเรียกอีกชื่อว่า “น้ำมันเครื่องสังเคราะห์แท้” เนื่องจากผลิตมาจากน้ำมันหล่อลื่นที่สังเคราะห์มาจากน้ำมันปิโตรเลียม ถือว่าเป็นเกรดน้ำมันเครื่องที่พิเศษที่สุด ทำให้มีสิ่งแปลกปลอมเจือปนน้อยมาก และมีราคาแพงกว่าน้ำมันเครื่องประเภทอื่น สามารถใช้งานได้ประมาณ 10,000-15,000 กิโลเมตร
4 ขั้นตอนการเลือกใช้น้ำมันเครื่อง
1. เลือกใช้น้ำมันเครื่องตามประเภทของรถยนต์และมาตรฐาน API
1.1 เครื่องยนต์เบนซินและแก๊ส: เลือกใช้น้ำมันเครื่องที่มีมาตรฐาน API ที่ขึ้นต้นด้วยตัว “S” โดยมีมาตรฐานต่างๆ เช่น API SP, API SN-Plus, API SN, API SM และ API SL (มาตรฐานจะเรียงตามตัวอักษรภาษาอังกฤษจาก SA เป็นจนถึง SP ซึ่งเป็นมาตรฐานสูงที่สุดในปัจจุบันที่เหมาะสมกับเครื่องยนต์เบนซินฉีดตรง (Gasoline Direct Injection) ทั้งที่ติดและไม่ติดตั้งเทอร์โบ
1.2 เครื่องยนต์ดีเซล: เลือกใช้น้ำมันเครื่องที่มีมาตรฐาน API ที่ขึ้นต้นด้วยตัว “C” โดยมีมาตรฐานต่างๆ เช่น API CK-4, API CJ-4, API CI-4, API CH-4 และ API CF-4 (มาตรฐานจะเรียงจาก CA เป็นจนถึง CK-4 ซึ่งเป็นมาตรฐานสูงที่สุดในปัจจุบัน)
หมายเหตุ การเลือกใช้น้ำมันเครื่องมาตรฐานต่างๆให้อ้างอิงตามคู่มือรถยนต์เป็นหลัก โดยที่น้ำมันที่มีมาตรฐาน API สูงกว่าสามารถใช้แทนน้ำมันที่มีมาตรฐาน API ต่ำกว่าได้ทั้งหมด
2. เลือกใช้น้ำมันเครื่องตามเบอร์ความหนืด
ในการเลือกน้ำมันเครื่องตามเบอร์ความหนืด (SAE) ตามการใช้งานในประเทศไทยซึ่งเป็นเมืองร้อน จึงแบ่งเบอร์ความหนืดตาม “ความหนืด เลขตัวหลัง” ของน้ำมันเครื่องเป็นหลัก เช่น เบอร์ 20, 30, 40 และ 50 (ตัวเลขยิ่งมากยิ่งมีความหนืดมาก) เราจึงแบ่งการใช้งานตามเบอร์ความหนืดได้ดังนี้
2.1 น้ำมันเครื่องเบอร์ 20 และ 30 เหมาะกับการใช้งานในรถขนาดเล็ก รถใหม่ หรือรถที่เน้นการใช้งานในเมืองเป็นหลัก ช่วยในเรื่องการประหยัดเชื้อเพลิง เช่น SAE 0W-20, 0W-30 และ 5W-30
2.2 น้ำมันเครื่องเบอร์ 40 มักเหมาะกับการใช้งานกับรถที่ผ่านการใช้งานมามากกว่า 100,000 กิโลเมตร เป็นเบอร์น้ำมันเครื่องที่สามารถใช้งานได้กับรถทั่วไป มีคุณสมบัติการปกป้องเครื่องที่ดีในสภาวะการขับขี้ที่หนักหน่วง หรือใช้ความเร็ว เช่น SAE 0W-40, 5W-40 และ 10W-40
2.3 น้ำมันเครื่องเบอร์ 50 เหมาะกับการใช้งานรถเก่าที่มีอาการกินน้ำมันเครื่อง รถแข่งที่มีรอบจัดซึ่งต้องการฟิล์มน้ำมันที่มีขนาดหนาในการปกป้องชิ้นส่วนเครื่องยนต์ เช่น SAE 20W-50
หมายเหตุ ในการใช้งานถ้าพบปัญหาน้ำมันเครื่องหาย ควรความปรับเบอร์ความหนืดขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปกป้องเครื่องยนต์และลดการกินน้ำมันเครื่อง หรือใช้น้ำมันเครื่องที่มีสารปรับสภาพซีลยาง (Seal Conditioner) อย่างตัว MAXLIFE DIESEL น้ำมันเครื่องสังเคราะห์แท้สำหรับเครื่องยนต์ดีเซล หรือ MAXLIFE น้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์สำหรับเครื่องยนต์เบนซิน
3. เลือกใช้น้ำมันเครื่องตามชนิดของน้ำมันเครื่อง
3.1 น้ำมันเครื่องเกรดสังเคราะห์แท้ มีอายุการใช้งาน 10,000 – 20,000 กิโลเมตร หรือไม่เกิน 6 เดือน
3.2 น้ำมันเครื่องเกรดกึ่งสังเคราะห์ มีอายุการใช้งาน 8,000 – 10,000 กิโลเมตร หรือไม่เกิน 6 เดือน
3.3 น้ำมันเครื่องเกรดทั่วไป มีอายุการใช้งาน 5,000 – 8,000 กิโลเมตร หรือไม่เกิน 6 เดือน
หมายเหตุ: ผู้ที่ต้องการดูแลเครื่องยนต์อย่างดีและไม่ต้องการเปลี่ยนถ่ายบ่อย มักเลือกน้ำมันเครื่องเกรดสังเคราะห์แท้ ในขณะที่หลายคนอาจเลือกใช้น้ำมันเครื่องเกรดกึ่งสังเคราะห์สำหรับรถใช้งานหนัก มีระยะวิ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนถ่ายบ่อย ๆ อยู่แล้ว เป็นต้น
4. เลือกใช้น้ำมันเครื่องตามชนิดของน้ำมันเชื้อเพลิงทางเลือก
4.1 น้ำมันเบนซินที่มีส่วนผสมของเอทานอล เช่น E20 และ E85 ควรใช้น้ำมันที่มีมาตรฐานสูง เช่น API SN ขึ้นไป เนื่องจากเอทานอลจะรวมตัวกับน้ำได้ดี ทำให้น้ำมันเครื่องเสื่อมสภาพเร็วยิ่งขึ้น จึงต้องใช้ที่ป้องกันการเสื่อมสภาพได้ดี
4.2 น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซล เช่น B10 และ B20 ควรใช้น้ำมันที่มีมาตรฐานสูง เช่น API CI-4 ขึ้นไป เนื่องจากไขมันจากน้ำมันไบโอดีเซล จะเข้าไปอุดตันไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิงและยังทำให้เกิดคราบยางเหนียวภายในเครื่องยนต์ ควรใช้น้ำมันเครื่องที่มีคุณสมบัติในการชะล้างสิ่งสกปรกที่เกิดขึ้นภายในเครื่องยนต์ที่มีประสิทธิภาพสูง
รู้อย่างนี้แล้ว ควรเลือกใช้น้ำมันเครื่องให้ถูกประเภทและเหมาะสมกับการใช้งานรถยนต์ของคุณ และควรเปลี่ยนน้ำมันเครื่องรถยนต์ตามระยะการเปลี่ยนถ่าย ตรวจเช็กน้ำมันเครื่องอย่างสม่ำเสมอ เพื่อยืดอายุการใช้งานของเครื่องยนต์ และป้องกันความเสียหาย ที่มีสาเหตุมาจากการใช้งานน้ำมันเครื่องเกินระยะที่กำหนด ซึ่งจะส่งผลเสียต่อเครื่องยนต์โดยตรง ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามเลยนะครับ