ห้ามจับพวงมาลัยแขนเหยียดตรงเด็ดขาด
การจับพวงมาลัยโดยให้แขนเหยียดตรงถือเป็นท่าทางที่อันตรายอย่างยิ่ง ซึ่งมักจะเกิดจากการปรับเบาะห่างจากพวงมาลัย หรือปรับพนักพิงเอนไปทางด้านหลังมากเกินไป ท่าทางลักษณะนี้นอกจากจะทำให้การควบคุมพวงมาลัยในสถานการณ์ฉุกเฉินทำได้ไม่ดีพอแล้วนั้น หากเกิดการปะทะจากทั้งด้านหน้าหรือด้านท้าย แรงปะทะอาจทำให้แขนของผู้ขับขี่ถึงขั้นหักได้ ถือเป็นภัยเงียบที่หลายคนคิดไม่ถึง
ทางที่ดีควรปรับพวงมาลัยและเบาะนั่งให้แขนมีลักษณะงอเล็กน้อย จะช่วยให้ควบคุมพวงมาลัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังช่วยซับแรงกระแทกกรณีเกิดการชน ช่วยลดอาการบาดเจ็บได้ดีกว่าการจับพวงมาลัยด้วยแขนเหยียดตรง
5 ขั้นตอนปรับพวงมาลัยที่ถูกต้อง
1. ปรับความสูงของเบาะ - การปรับความสูงของเบาะอย่างเหมาะสมจะช่วยเพิ่มทัศนวิสัยของผู้ขับขี่ ทางที่ดีควรปรับความสูงของเบาะก่อน แล้วจึงค่อยปรับระยะใกล้-ไกลของเบาะ เนื่องจากรถบางรุ่นหากมีการปรับความสูงของเบาะ จะทำให้ระยะห่างจากพวงมาลัยเปลี่ยนแปลงไป
2. ปรับระยะห่างเบาะ - ระยะห่างเบาะนั่งที่เหมาะสมจะต้องเหยียบเบรกจนสุดได้โดยที่เข่ายังคงงอเล็กน้อย หากปรับเบาะห่างจนเกินไป จะทำให้ขาตึง เหยียบเบรกได้ไม่ถนัดเท่าที่ควร
3. ปรับพนักพิงเอนเล็กน้อย - การปรับพนักพิงเอนไปทางด้านหลังเล็กน้อย จะช่วยเพิ่มความผ่อนคลายในการขับขี่ หลังไม่ตั้งชันมากจนเกินไป ซึ่งจะทำให้เกิดอาการเมื่อยล้าได้
4. จับพวงมาลัยแขนงอเล็กน้อย - หลีกเลี่ยงการจับพวงมาลัยด้วยแขนเหยียดตรง หากไม่สามารถงอแขนจับพวงมาลัยได้ แสดงว่าเบาะนั่งมีระยะห่างจากพวงมาลัยมากจนเกินไป
5. จับพวงมาลัยที่ 3 และ 9 นาฬิกา - ถือเป็นตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุดในการจับพวงมาลัย เพราะผู้ขับขี่จะสามารถควบคุมทิศทางพวงมาลัยได้อย่างรวดเร็วที่สุด เพิ่มความปลอดภัยได้ดีที่สุด หลีกเลี่ยงการจับพวงมาลัยด้วยมือเพียงข้างเดียว เพราะหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินอาจทำให้องศาการหมุนพวงมาลัยเป็นไปอย่างจำกัด เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้
จับพวงมาลัยตามตำแหน่งที่ถูกต้องแล้ว อย่าลืมปรับเบาะและพนักพิงที่นั่งให้เหมาะสม ข้อศอกควรงอเล็กน้อย ไม่เหยียดตึงหรือหย่อนจนเกินไป เพื่อให้ผู้ขับรถสามารถควบคุมพวงมาลัยได้อย่างปลอดภัยทุกสถานการณ์