เผยวิธีทริคแก้อาการเมารถ รับรองเอาอยู่ทุกทริป!
1. พยายามนั่งรถบริเวณส่วนหน้าของรถ
ที่ต้องให้นั่งบริเวณส่วนหน้าของรถก็เพราะว่าประสาทส่วนต่างๆ ของเราจะได้รับรู้ถึงจังหวะการเคลื่อนตัว รวมถึงอาการโคลงเคลงของรถได้ จากการทดลองพบว่าวิธีนี้ช่วยให้ผู้ชอบเมารถ มีอาการวิงเวียนศีรษะหรือคลื่นไส้ลดลงได้อย่างมาก ทั้งนี้ก็เพราะประสาทของเรารับรู้ความเคลื่อนไหวของรถและปรับตัวตามนั่นเอง
2. มองไปไกลๆ ใช้สายตามองตรงไปข้างหน้าเสมอ
พยายามไม่ก้มๆ เงยๆ หรือใช้สายตาจดจ่อกับมือถือหรือมุมมองภายในรถ ให้มองออกไปไกลๆ และนิ่งๆ เพื่อให้สมองมั่นใจว่าอะไรอยู่ด้านบน ล่าง ซ้าย ชวา และทราบถึงสถานะและตำแหน่งของตัวเองได้ถูกต้องขณะที่รถหรือพาหนะเคลื่อนไหว ยิ่งเฉพาะเวลาที่คุณรู้สึกคลื่นไส้ ให้หลับตาและหายใจช้าๆ โดยใช้เวลาประมาณ 2-3 นาที
3. พยายามสูดอากาศบริสุทธิ์ให้ได้มากที่สุด
ท่องไว้เสมอว่า "หายใจลึกๆ" ซึ่งคุณสามารถลุกออกจากที่นั่งและเดินเล่นข้างนอกรถซักครู่ พยายามแวะพักบ่อยๆ เพื่อเปิดให้อากาศบริสุทธิ์เข้ามาภายในตัวรถมากที่สุด หรือเร่งเครื่องปรับอากาศให้แรงขึ้นเพื่อให้ลมเป่าหน้า
4. จิบหรือดื่มน้ำอัดลมในปริมาณที่พอเหมาะ
ภาวะขาดน้ำอาจทำให้เกิดอาการเมารถได้ดังนั้นควรดื่มน้ำให้เพียงพอ วิธีนี้เหมาะสำหรับคนที่รู้สึกมีอาการมวนท้องมากๆ เพราะน้ำอัดลมจะไปช่วยขับดันกรดในกระเพาะออกมา สามารถลดอาการมวนท้องลงได้พอสมควร และนอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการมวนท้องควรสูดลมหายใจเข้าลึกๆ ในระหว่างที่เกิดอาการ ซึ่งการทำแบบนี้จะช่วยให้ความรู้สึกวิงเวียนนั้นลดลงได้
5. ห้ามอ่านหนังสือในขณะที่กำลังนั่งรถ
การที่เรามองอะไรที่เป็นของชิ้นเล็กๆ ที่เขย่าหรือเคลื่อนไหวในรถ จะทำให้ประสาทหรือสมาธิของเราจดจ่ออยู่ที่ตรงข้างหน้าเท่านั้น และอาการที่ตามมาก็คือร่างกายปรับสมดุลตามการเคลื่อนไหวของรถไม่ได้ อาการเมาจึงมักจะเกิดขึ้นกับคนที่มีพฤติกรรมอ่านหนังสือ/เล่นโทรศัพท์บนรถ ดังนั้นในขณะนั่งรถเราจึงไม่ควรจ้องหรือเพ่งอะไรอยู่ที่จุดเดียว พยายามมองออกไปไกลๆ
6. ทานขิงหรือผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวเชื่อหรือไม่ว่าการรักษาแบบธรรมชาตินี้สามารถช่วยบรรเทาความปั่นป่วนของท้องคุณได้เพียงเวลาไม่นาน ไม่ว่าจะเป็น น้ำขิงร้อนๆ หรือผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว อาทิ มะม่วง มะดัน มะขาม ซึ่งรสเปรี้ยวจากผลไม้สามารถช่วยลดอาการเมาหรือวิงเวียนลงได้ แต่แนะนำว่าอย่าทานเยอะ เพราะจะเกิดกรดในกระเพาะและทำให้ท้องเสียได้
7. ทานอาหารเบาท้อง
การเดินทางขณะที่ท้องว่างอยู่จะทำให้อาการคลื่นไส้ของคุณแย่ลงกว่าเดิมมาก ดังนั้นอย่าลืมทานอาหารที่เบาท้อง อาทิ แครกเกอร์ องุ่น แอปเปิลเขียว แต่อย่าทานมากเกินไปและควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวานจัด รสเผ็ดจัด หรือรสเค็มจัด
8. ทานยาแก้เมารถ
การใช้ยาแก้เมารถควรใช้ตามฉลากยาหรือตามที่เภสัชกรแนะนำเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อตนเองมากที่สุด โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เด็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร โดยยาแก้เมารถที่นิยมใช้มีดังต่อไปนี้
- ยาแก้แพ้หรือยาต้านฮิสตามีน (Antihistamines) เป็นยาแก้เมารถในกลุ่มที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป หรือสั่งจ่ายโดยแพทย์ก็คือ ยาไดเมนไฮดริเนต (Dimenhydrinate) และยาไซไคลซีน (Cyclizine) ซึ่งมีส่วนช่วยบรรเทาหรือป้องกันอาการเมารถอันเกิดจากสารฮิสตามีน ซึ่งเป็นต้นเหตุเดียวกันกับการเกิดอาการแพ้ต่างๆ ซึ่งยาแต่ละตัวจะมีปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาที่ต่างกันไป เราจึงควรอ่านฉลากยาก่อนเสมอ แต่สำหรับผู้ใหญ่ทั่วไป ยาไดเมนไฮดริเนตควรกินในปริมาณ 50–100 มิลลิกรัม ทุก 4–6 ชั่วโมง ส่วนยาไซไคลซีนควรกินในปริมาณ 50 มิลลิกรัม ทุก 4–6 ชั่วโมง โดยยาทั้งสองชนิดนี้ควรใช้ก่อนออกเดินทางอย่างน้อย 30–60 นาที
- ยากลุ่มแอนติโคลิเนอร์จิก (Anticholinergics) เป็นยากลุ่มแอนติโคลิเนอร์จิกที่ออกฤทธิ์ปรับสมดุลของสารสื่อประสาทอย่างแอซิติลโคลีน (Acetylcholine) และนอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine) ที่ผิดปกติในสมอง อีกทั้งยังยับยั้งการส่งสัญญาณต่างๆ ไปสู่สมองส่วนกลางที่อาจก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้และอาเจียน จึงอาจช่วยป้องกันการเมารถได้ ตัวอย่างยาแก้เมารถในกลุ่มนี้คือ ยาสโคโปลามีน (Scopolamine) ชนิดแผ่นแปะหลังหู แนะนำให้ใช้ก่อนเดินทางอย่างน้อย 4–6 ชั่วโมง ตามคำสั่งของแพทย์ผู้จ่ายยาเท่านั้น เพราะอาจมีผลข้างเคียง เช่น ปากแห้ง เจ็บคอ ท้องผูก แดงหรือคันผิวหนังบริเวณที่ใช้แผ่นแปะ มีปัญหาด้านการมองเห็น ง่วงซึม เวียนศีรษะ สับสน รู้สึกกระสับกระส่าย ฉุนเฉียวง่าย หรือมีเหงื่อออกมาก
อาการเมารถเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในการเดินทาง ยิ่งในช่วงปลายปีแบบนี้ที่หลายคนจะขับรถออกเดินทางกัน การรู้วิธีป้องกันอาการเมารถที่พี่หมีนำมาฝากข้างต้นก็จะเป็นประโยชน์แก่เพื่อนๆ ที่เมารถ เมื่อใช้ทริคเหล่านี้ในการเดินทางครั้งต่อไป คุณจะสามารถเดินทางได้อย่างราบรื่นและสบายใจมากขึ้น