เติมน้ำมันเครื่องต่างยี่ห้อ เติมผสมกันได้ ต่างเบอร์ความหนืด สามารถใช้เติมผสมกันได้หรือเปล่า
น้ำมันเครื่องแต่ละเบอร์แตกต่างกันอย่างไร?
น้ำมันเครื่องแต่ละเบอร์บ่งบอกถึงความหนืดของน้ำมัน วัดจากความต้านทานของการไหล ซึ่งตัวเลขที่พบได้บ่อยๆ เช่น 0W-20, 5W-30, 5W-40 ฯลฯ โดยแต่ละตัวเลขมีความหมาย ดังนี้
- ตัวเลขก่อน W - แทนความสามารถของน้ำมันเครื่องในการคงความข้นใสที่อุณหภูมิต่ำ (ฤดูหนาว) ยิ่งตัวเลขต่ำ ยิ่งไหลเวียนได้ดีในอากาศเย็น
- ตัวเลขหลัง W - แทนความหนืดของน้ำมันเครื่องที่อุณหภูมิสูง (ขณะเครื่องยนต์ทำงาน) ยิ่งตัวเลขสูงมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งมีความหนืดมากขึ้นเท่านั้น
น้ำมันเครื่องของรถแต่ละรุ่นแตกต่างกันออกไป
รถแต่ละรุ่นอาจใช้เบอร์น้ำมันเครื่องแตกต่างกัน แม้ว่าจะเป็นรถรุ่นเดียวกัน แต่คนละเครื่องยนต์ ก็อาจใช้น้ำมันเครื่องต่างเบอร์ด้วยเช่นกัน การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องแต่ละครั้งจึงควรอ้างอิงความหนืดของน้ำมันเครื่องตามที่ระบุไว้ในคู่มือ
เว้นแต่เครื่องยนต์ผ่านการใช้งานมาอย่างหนักจนเกิดอาการหลวม อู่มักแนะนำให้เพิ่มความหนืดของน้ำมันเครื่องเพื่อชดเชยกับสภาพเครื่องยนต์ที่มีการสึกหรอกว่าปกติ
แบ่งตามชนิด ของน้ำมันพื้นฐาน
- น้ำมันแร่(Mineral) คือ น้ำมันเครื่อง ที่ผลิตจากการกลั่นน้ำมันดิบ หรือเรียกง่ายๆ น้ำมันเครื่องธรรมดาๆ ซึ่งราคาจะถูกที่สุด
- น้ำมันกึ่งสังเคราะห์(Semi-synthetic) คือ น้ำมันเครื่อง ที่ผลิตจากน้ำมันแร่ผสมกับน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ ประสิทธิภาพดีกว่าน้ำมันแร่ และราคาไม่สูงเท่า น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ พูดง่ายๆคือ ราคากลางๆ
- น้ำมันสังเคราะห์(Synthetic) คือ น้ำมันเครื่อง ที่ผลิตด้วยกรรมวิธีทางเคมี กลั่นด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ประสิทธิภาพและราคา ก็จะสูงกว่าน้ำมันเครื่องประเภทอื่นๆ
ในกรณีนี้ ถ้าเป็นน้ำมันพื้นฐานต่างชนิดกัน สามารถใช้ร่วมกันได้ แต่ควรจะต้องเป็นน้ำมันเครื่อง ประเภทเดียวกัน เช่น เครื่องยนต์ดีเซลเหมือนกัน, เกรดมาตรฐาน (API) เดียวกัน และเบอร์ความหนืดเดียวกัน แต่จะทำให้ประสิทธิภาพในเรื่องของอายุการเปลี่ยนถ่าย และการใช้งานลดลง
แบ่งตามยี่ห้อ มาตรฐาน และเบอร์ความหนืด
ในกรณีที่ต่างยี่ห้อ แต่มาตรฐาน(API) เดียวกัน เบอร์ความหนืดเดียวกัน สามารถที่จะใช้ร่วมกันได้ไม่มีปัญหา แต่ถ้าในกรณีที่ต่างมาตรฐาน หรือเบอร์ความหนืดต่างกัน จะทำให้ประสิทธิภาพของน้ำมันเครื่องลดลง ส่งผลต่อการไหลเวียนในระบบ ทั้งยังส่งผลให้ปั้มน้ำมันเครื่องทำงานหนักเกินความจำเป็นอีกด้วย
แบ่งตามประเภทของน้ำมันเครื่อง
ในกรณีที่ น้ำมันเครื่องยนต์ดีเซล ผสมกับน้ำมันเครื่องยนต์เบนซิน หากเป็นการใช้ทดแทนกันในกรณีฉุกเฉิน สามารถผสมกันได้ แต่ในเรื่องของอายุการใช้งาน และประสิทธิภาพการใช้งานจะลดลงไปประมาณครึ่งหนึ่ง และไม่ควรใช้เกินระยะ 5,000 กิโลเมตร
แต่อย่างไรก็ตาม แนะนำว่าควรใช้ให้ถูกต้องตามประเภท มาตรฐาน(API) และเบอร์ความหนืด ตามคำแนะนำของผู้ผลิต เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้งานของเครื่องยนต์