รถไม่มีประกันภัย หรือ  พรบ.หากเกิดอุบัติเหตุ ต้องทำอย่างไร?
รถไม่มีประกันภัย หรือ พรบ.หากเกิดอุบัติเหตุ ต้องทำอย่างไร?

รถไม่มีประกันภัย หรือ  พรบ.หากเกิดอุบัติเหตุ ต้องทำอย่างไร?

หากขับรถไม่มีพรบ จะเป็นอย่างไร ได้รับความคุ้มครองหรือไม่

1. มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
การนำรถไม่มีพรบ ออกไปใช้บนท้องถนน หรือเป็นรถที่ พ.ร.บ. รถยนต์ขาด หากพบเจอเจ้าหน้าที่เรียกตรวจอาจมีโทษทางกฎหมายและถูกปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือหากต่อ พ.ร.บ. รถยนต์แล้ว แต่ไม่ติดในจุดที่เห็นได้ชัดเจนก็มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท ดังนั้นก่อนเดินทางไกลควรเช็ก พ.ร.บ. รถยนต์ทุกครั้ง ว่า พ.ร.บ. ขาดหรือไม่ และต่อเรียบร้อยแล้วหรือยัง อีกทั้งควรเช็กตำแหน่งที่ติด พ.ร.บ. รถยนต์ให้เห็นชัดเจนด้วย เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาตามมาภายหลัง
 

2. ไม่สามารถต่อภาษีรถยนต์ได้
การต่อภาษีรถยนต์หรือต่อทะเบียนรถจะต้องใช้เอกสาร พ.ร.บ.รถยนต์ แนบไปกับเอกสารการต่อด้วย ซึ่งหากรถไม่มีพรบ หรือ พ.ร.บ.รถยนต์ หมดอายุ ก็จะไม่สามารถต่อภาษีหรือต่อทะเบียนรถยนต์ได้ มากกว่านั้นหากปล่อยให้ภาษีรถยนต์ขาดนานกว่า 3 ปี อาจส่งผลให้ทะเบียนรถยนต์ถูกระงับถาวรและจะต้องไปขอป้ายทะเบียนใหม่ด้วย
 

3. ไม่ได้รับความคุ้มครองจาก พ.ร.บ.รถยนต์
เมื่อรถไม่มีพรบ เกิดอุบัติเหตุแต่ไม่มีคู่กรณีหรือผู้ประสบภัย จะไม่ได้รับความคุ้มครองจาก พ.ร.บ.รถยนต์ และยังจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ เองทั้งหมด แต่หากรถไม่มีพรบ ประสบอุบัติเหตุ และมีบุคคลภายนอกหรือคู่กรณีบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต ทางคู่กรณีสามารถเบิกค่าเสียหายเบื้องต้นได้จากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ โดยทางกองทุนฯ จะทำการชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้ประสบภัยก่อน และจะไปไล่เก็บเบี้ยคืนกับทางเจ้าของรถ ซึ่งจะบวกเงินเพิ่มจากเดิมอีก 20% รวมกับค่าปรับที่ไม่ทำหรือต่อ พ.ร.บ.รถยนต์ และค่าปรับที่นำรถไม่มีพรบ มาใช้งานเป็นเงินไม่เกิน 10,000 บาท 
 

4.เป็นฝ่ายถูกในอุบัติเหตุ เบิก พ.ร.บ.รถยนต์ ของคู่กรณีได้
ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นและเราเป็นฝ่ายถูก แต่รถที่ประสบภัยเป็นรถไม่มีพรบ ก็สามารถที่จะเบิกค่าใช้จ่ายเบื้องต้นกับทางคู่กรณีได้ เช่น ค่ารักษาพยาบาลตามจริง ไม่เกิน 30,000 บาท หรือเงินชดเชยกรณีที่มีการเสียชีวิตและทุพพลภาพคนละ 35,000 บาท
 

5. ยังได้รับความคุ้มครองจาก พ.ร.บ.รถยนต์ ในกรณียกเว้น
หากรถยนต์ที่ขับเป็นรถไม่มีพรบ และเข้าข่ายดังต่อไปนี้ ผู้ประสบภัยจากรถสามารถเรียกร้องค่าเสียหายเบื้องต้นจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยได้

ผู้ประสบภัยจากรถที่ไม่มีประกันภัย พ.ร.บ.รถยนต์ และเจ้าของรถไม่ยอมจ่าย

มีผู้ประสบภัยจากรถที่ถูกยักยอก ฉ้อโกง กรรโชก ลักขโมย ชิงปล้น ที่ถูกแจ้งความเอาไว้แล้ว

มีผู้ประสบภัยจากรถที่ไม่มีคู่กรณีแสดงตนเป็นเจ้าของรถ และรถคันดังกล่าวไม่มีพรบ

มีผู้ประสบภัยจากการชนแล้วหนี หรือไม่ทราบว่าความเสียหายที่เกิดขึ้น เกิดจากรถคันไหน

มีผู้ประสบภัยจากรถที่ได้รับการยกเว้นและไม่ได้จัดทำประกันภัย พรบ. เอาไว้

บริษัทประกันภัยไม่ยอมจ่าย หรือจ่ายไม่เต็มจำนวน

6. ผู้ประสบภัย เบิก พ.ร.บ. ก่อนได้ แต่ต้องจ่ายเงินคืนกองทุนทดแทน
แม้ว่ารถที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นจะเป็นรถไม่มีพรบ ทำให้ผู้ประสบภัยไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายเบื้องต้นจากบริษัทประกันภัยได้ แต่ยังสามารถขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยได้ เพื่อเป็นการเยียวยา ฟื้นฟูผู้ประสบภัยจากรถให้สามารถได้รับการรักษาพยาบาลหรือการจัดงานศพได้ทันท่วงที แต่เมื่อกองทุนฯ จ่ายชดเชยแล้ว จะทำการเรียกเก็บเบี้ยคืนจากเงินที่จ่ายไปพร้อมเงินเพิ่มร้อยละ 20 จากเจ้าของรถหรือทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัย

จะเกิดอะไรขึ้น หากรถไม่มีประกัน ?


1.ไม่มีคนคอยช่วยเหลือหรือให้คำปรึกษาเมื่อเกิดอุบัติเหตุ
เชื่อว่ามีหลายคนที่เมื่อเกิดอุบัติเหตุ มักจะตกใจจนทำอะไรไม่ถูก หากรถที่คุณขับไม่ได้ทำประกันรถยนต์เอาไว้ คุณจะต้องจัดการเคลียร์ปัญหากับคู่กรณีเอง ไม่มีคนคอยช่วยให้คำปรึกษาหรือไกล่เกลี่ยปัญหาให้กับคุณ ทำให้เสียเวลามากยิ่งขึ้น แต่กลับกันหากรถยนต์ที่คุณขับอยู่ทำประกันรถยนต์เอาไว้ คุณจะมีที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญที่สามารถติดต่อได้ตลอด 24 ชั่วโมง ในยามที่คุณต้องการความช่วยเหลือหรือเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน 

2.ต้องมีสติและขับรถระมัดระวังมากขึ้นกว่าเดิม
การมีสติและความระมัดระวังในการขับขี่เป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ต้องมีคือ ความไม่ประมาทที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเราเองหรือผู้ใช้ถนนร่วมกับเรา ดังนั้นคุณจำเป็นต้องตั้งสติและขับขี่อย่างระมัดระวังให้มากขึ้น หากคุณเลือกที่จะขับรถที่ไม่มีประกัน 

3.จ่ายค่าเสียหาย ค่าซ่อมเอง จนไม่มีเงินเก็บ
เมื่อเกิดอุบัติเหตุ และเราเป็นฝ่ายผิด แถมรถไม่มีประกัน สิ่งที่ตามมาคือ ค่าชดเชยความเสียหายที่เราต้องควักเงินในกระเป๋าตัวเองจ่ายทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรถของคุณหรือของคู่กรณี ไม่มีคนมาคอยช่วยดูแล หรือคุ้มครองในส่วนของทรัพย์สินต่างๆ เนื่องจากไม่ได้ทำประกันรถยนต์ ซึ่งหากรถของคู่กรณีมีราคาที่สูง ค่าซ่อมอาจมีราคาที่สูงกว่าเบี้ยประกันรถยนต์ในแต่ละปีเสียอีก

4.ทำทุกขั้นตอนเอง สู้คดีในศาล
หากไม่ได้ทำประกันรถยนต์เอาไว้และขับรถที่ไม่มีประกันไปเกิดอุบัติเหตุ คุณจะต้องทำทุกอย่างเองตั้งแต่เจรจากับคู่กรณี คอยเก็บหลักฐานในที่เกิดเหตุ รวมไปถึงพูดคุยกับเจ้าหน้าที่และประกันของคู่กรณีตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง หรือหากเป็นอุบัติเหตุที่เกิดการเสียชีวิตขึ้นและคุณเป็นฝ่ายผิด ต้องขึ้นศาล คุณอาจต้องควักเงินจ่ายเองและสู้คดีในศาลเองอีกด้วย เพราะไม่มีใครคอยช่วยประกันตัวผู้ขับขี่ในคดีอาญาให้กับคุณ

5.เกิดเหตุน้ำท่วม รถไฟไหม้ รถหาย ก็ไม่ได้อะไรคืน
เพราะเมื่อเกิดเหตุ ภัยธรรมชาติหรือเรื่องเหนือความควบคุมอย่างการถูกขโมยรถ หากรถไม่มีประกันก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองและได้รับเงินชดเชยค่าเสียหาย ซึ่งหากคุณไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น การทำประกันรถยนต์ชั้น 1, 2+ อาจช่วยให้คุณวางใจได้มากขึ้น

ถ้าไม่ทำประกันรถยนต์ได้ไหม ?
ตอบเลยว่า ได้ หากเป็นประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ เนื่องจากไม่มีกฎหมายข้อไหนที่บังคับว่าต้องทำประกัน แต่ถ้าถึงคราวที่รถเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา ก็ต้องยอมรับสภาพให้ได้ด้วยนะครับ ซึ่งจะมีความแตกต่างกับประกันรถยนต์ภาคบังคับ หรือ พ.ร.บ. รถยนต์ ที่รถทุกคันจะถูกบังคับทำประกันภัยประเภทนี้ เพื่อที่จะได้รับความคุ้มครองในตัวบุคคลเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ในรูปแบบของเงินชดเชยค่ารักษาพยาบาลตามที่กำหนดเอาไว้

เห็นไหมครับว่าหากคุณขับรถไม่มีประกันไปบนท้องถนน เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา สิ่งที่คุณจะต้องเผชิญมีอะไรบ้าง หากไม่อยากปวดหัวและกังวลกับเรื่องเหล่านี้ ก็ควรที่จะทำประกันรถยนต์เอาไว้

Cr.  วิริยะประกันภัย
 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง