สายซิ่งต้องรู้! แต่งรถอย่างไรไม่ให้ผิดกฎหมาย?
1. เปลี่ยนสีรถหรือ Wrap สีรถ
ใครที่กำลังสงสัยว่า Wrap สีรถผิดกฎหมายมั้ย หรือ Wrap สีรถต้องแจ้งขนส่งหรือไม่ จาก พรบ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 13 ระบุไว้ว่า รถยนต์ที่จดทะเบียนแล้ว หากมีการเปลี่ยนสีรถให้แตกต่างไปจากข้อมูลที่จดทะเบียนเอาไว้ ต้องแจ้งกับนายทะเบียนภายใน 7 วัน โดยการเปลี่ยนสีรถที่ต้องแจ้งขนส่งนั้นกำหนดเอาไว้ว่าเป็นการเปลี่ยนสีตัวถังมากเกินกว่า 30% ของพื้นที่ทั้งหมด แต่หากเปลี่ยนสีแค่บางจุดไม่เกินพื้นที่ 30% ก็ไม่จำเป็นต้องแจ้ง เช่น การเปลี่ยนสีฝาถังน้ำมัน เป็นต้น
แต่ถ้าเปลี่ยนสีรถส่วนกระโปรงหน้าหรือกระโปรงหลังให้เป็นสีอื่นที่ไม่ใช่สีเดิม กรณีนี้จะถือว่าเข้าข่ายเปลี่ยนสีเกิน 30% และจำเป็นต้องแจ้งขนส่ง หากไม่แจ้งจะมีความผิดตาม พรบ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 13 และมาตรา 60 และมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
2. ดัดแปลงท่อไอเสีย
การเปลี่ยนท่อไอเสียรถไม่ถือว่าเป็นการผิดกฎหมายแต่อย่างใด เพราะไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงรถให้เปลี่ยนไปจากเดิม แต่ถ้าหากไปทำท่อไอเสียรถยนต์ให้มีเสียงดังถือว่าผิดกฎหมายรถแต่ง โดยกฎหมายแต่งรถมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ ท่อไอเสียรถไม่ควรมีเสียงดังเกิน 95 เดซิเบล หากทำผิดมีโทษปรับสูงสุด 1,000 บาท
3. ถอดเบาะหลังติดโรลบาร์
หากจำนวนเบาะในรถยนต์มีจำนวนเท่าเดิมการติดโรลบาร์ถือว่าไม่มีความผิด แต่ถ้าถอดเบาะรถยนต์ออกจะถือว่ามีความผิดฐานมีอุปกรณ์ภายในรถไม่ครบถ้วน เป็นการดัดแปลงสภาพรถ มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
4. ยกสูง / โหลดเตี้ย
การแต่งรถโดยนำรถไปยกสูงถือว่าทำได้ แต่กฏหมายรถแต่งต้องยกสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร
ส่วนการโหลดเตี้ยจะต้องไม่ต่ำกว่า 40 เซนติเมตร เมื่อวัดระยะกึ่งกลางไฟหน้ากับระดับพื้นถนน
ทั้งนี้ หากมีการดัดแปลงสภาพช่วงล่างรถยนต์ จำเป็นต้องขอหนังสือรับรองจากวิศวกร และต้องแจ้งขนส่งด้วยเหมือนกัน กรณีที่ใส่สปอยเลอร์จนรถเตี้ยลแทบติดกับพื้นถนน จะผิดกฎหมายหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของเจ้าหน้าที่และช่างตรวจสภาพรถที่ขนส่ง
5. ใส่ไฟไอติม
ไฟไอติมเป็นคำเรียกติดปากที่ใช้เรียกไฟตกแต่งรถยนต์ มักจะมีสีสันสดใส เช่น สีฟ้า สีชมพู สีม่วง
ใครที่ติดไฟไอติมบอกเลยว่าผิดกฎหมายแน่นอน เพราะเป็นการดัดแปลงสภาพรถให้แตกต่างไปจากสภาพเดิมที่ออกจากโรงงาน แสงสีสันที่ฉูดฉาดของไฟไอติมอาจทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นๆ รู้สึกแสบตา มองเห็นไม่ชัดเจน อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุผลท้องถนนได้
ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก ในมาตรา 38 ระบุไว้ว่า ไฟเลี้ยวรถยนต์จะต้องเป็นแสงสัญญาณกะพริบสีอำพัน, ไฟหยุด (ไฟเบรก) เป็นแสงแดงเท่านั้น หากมีการแต่งไฟสีหรือทำให้ไฟสว่างกว่าเดิม มีโทษปรับสูงสุด 2,000 บาท
6. เสริมแหนบ หรือ เบิลโช้ค
หากเสริมแหนบรถยนต์หรือเบิ้ลโช้คมาแล้วไม่แจ้งทางขนส่ง ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 ที่บัญญัติไว้ว่า รถใดที่จดทะเบียนแล้ว ห้ามมิให้ผู้ใดเปลี่ยนแปลงตัวรถหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของรถให้ผิดไปจากรายการที่จดทะเบียนไว้และใช้รถนั้น เว้นแต่เจ้าของรถนำรถไปให้นายทะเบียนตรวจสภาพก่อน ผู้ที่ฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
7. ใส่ล้อยางเกินออกมานอกบังโคลนข้างละหลายนิ้ว
แม้กฎหมายจะไม่ได้ระบุขนาดล้อที่ชัดเจน แต่การดัดแปลงรถโดยการเปลี่ยนขนาดล้อให้มีขนาดใหญ่เกินไปจนล้นออกมานอกบังโคลน อาจถูกพิจารณาว่าเป็นการดัดแปลงสภาพรถที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนนหรือบุคคลอื่น หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของผู้อื่นได้ ซึ่งเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายจราจร มีโทษปรับ 2,000 บาท
8. ตีโป่งซุ้มล้อ
ตีโป่งซุ้มล้อ ผิดไหม คำตอบก็คือ ขึ้นอยู่กับขอบเขตของการดัดแปลง หากการตีโป่งซุ้มล้อทำให้ล้อรถยื่นออกมาจากตัวรถมากเกินไป จนอาจกีดขวางการจราจรหรือสร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สินของผู้อื่นได้ ถือว่าผิดกฎหมาย อีกทั้งยังส่งผลต่อความแข็งแรงของตัวรถ ทำให้การควบคุมรถยากขึ้น ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้ใช้รถคันอื่น ๆ ด้วย มีโทษปรับ 2,000 บาท
9. ดัดแปลงสภาพรถยนต์เป็นขับเคลื่อน 4 ล้อ
เปลี่ยนรถยนต์ที่ขับเคลื่อน 2 ล้อ ให้กลายเป็นรถขับเคลื่อน 4 ล้อ ผิดกฎหมายแน่ถ้าไม่แจ้งกรมขนส่ง หากจะทำให้ถูกกฎหมายต้องมีใบเสร็จอะไหล่ ใบรับรองวิศวกร ยืนยันการดัดแปลงกับขนส่งด้วย พร้อมนำรถเข้าตรวจสอบความปลอดภัยและความแข็งแรงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
หลังจากตรวจสอบแล้ว อาจต้องนำรถไปชั่งน้ำหนักเพื่อคำนวณอัตราภาษีที่ต้องชำระเพิ่มเติม เสียค่าธรรมเนียมและภาษีตามที่กำหนด
หากไม่แจ้งต่อกรมขนส่งจะถือว่าเป็นการดัดแปลงรถยนต์ให้ผิดจากการจดทะเบียนโดยมิได้ขออนุญาต มีโทษปรับ 2,000 บาท
10. ใส่หลังคาซันรูฟ / มูนรูฟ
หากรถของคุณมีหลังคาซันรูฟมาจากโรงงานตั้งแต่แรก และมีระบุในเอกสารการจดทะเบียนรถ ถือว่าถูกต้องตามกฎหมาย แต่ถ้าติดตั้งหลังคาซันรูฟโดยไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นการดัดแปลงสภาพรถยนต์ เข้าข่ายผิดกฎหมายได้อาจถูกปรับตามกฎหมายจราจร 2,000 บาท
11. ติดไฟสปอร์ตไลท์ ไฟนีออนใต้ท้องรถหรือติดไว้กับป้ายทะเบียน
การแต่งรถโดยติดไฟสปอร์ตไลท์ ติดไฟนีออนใต้ท้องรถหรือติดไว้กับป้ายทะเบียน ถือว่าเป็นการดัดแปลงสภาพรถ ซึ่งผิดกฎหมายจราจร เพราะการติดตั้งไฟเพิ่มเติมในตำแหน่งที่ไม่ถูกต้อง อาจทำให้แสงสว่างไปรบกวนผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่น ทำให้ทัศนวิสัยในการขับขี่ลดลง อาจโดนปรับ 2,000 บาท
การดัดแปลงรถยนต์ที่ต้องขออนุญาต
หากคุณต้องการดัดแปลงรถยนต์ในส่วนต่อไปนี้ จะต้องแจ้งขออนุญาตต่อนายทะเบียน
- เปลี่ยนเครื่องยนต์: เปลี่ยนเครื่องยนต์เป็นรุ่นอื่น หรือเปลี่ยนขนาดของเครื่องยนต์
- เปลี่ยนชนิดเชื้อเพลิง: จากน้ำมันเบนซินเป็นแก๊สโซฮอล์ หรือเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า
- ดัดแปลงตัวถังรถ: เปลี่ยนรูปร่างของตัวรถ เช่น ตัดหลังคา
- ดัดแปลงระบบรองรับน้ำหนัก: เปลี่ยนแหนบ เปลี่ยนโช้คอัพ ยกสูงหรือโหลดเตี้ย
- ติดตั้งโครงสร้างเพิ่มเติม: เช่น ติดโครงหลังคา โครงเหล็กด้านข้าง หรือโครงสร้างอื่น ๆ ที่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างหลักของรถ
- ดัดแปลงระบบบังคับเลี้ยวหรือระบบขับเคลื่อน
- เปลี่ยนสีรถ: เปลี่ยนสีรถทั้งคัน หรือเปลี่ยนสีบางส่วนเกิน 30% ของสีรถทั้งหมด
การดัดแปลงรถยนต์ที่ไม่ต้องขออนุญาต
สำหรับการดัดแปลงในส่วนต่อไปนี้ โดยทั่วไปแล้วไม่จำเป็นต้องขออนุญาต แต่ต้องติดตั้งให้ถูกวิธีและไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้อื่น