เผยระดับปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเท่าไหร่ จึงถือว่าเมาแล้วขับ?
ต้องมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเท่าไหร่ ถึงจะเข้าข่ายเมาแล้วขับ
กฎกระทรวงฉบับที่ 21 พ.ศ. 2550 ได้เพิ่มเงื่อนไขล่าสุดบังคับใช้กับผู้ขับขี่ 4 ประเภท หากพบว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์ เกินกว่า 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะถือว่าเมาแล้วขับ ได้แก่
ผู้ขับขี่ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี
ผู้ขับขี่ที่ถือใบขับขี่ชั่วคราว (แบบ 2 ปี)
ผู้ขับขี่ที่มีใบขับขี่ประเภทอื่น ใช้แทนกันไม่ได้
ผู้ขับขี่ที่อยู่ระหว่างการพักใช้ หรือถูกเพิกถอนใบขับขี่
กรณีผู้ขับขี่ที่มีใบขับขี่ตลอดชีพ หรือใบขับขี่ 5 ปี และมีอายุเกิน 20 ปี หากตรวจพบว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะถือว่าเมาแล้วขับ
บทลงโทษ ข้อหา “เมาแล้วขับ” มีอะไรบ้าง?
กรณีถูกเจ้าหน้าที่ตรวจพบ ว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ในขณะขับรถ จะมีบทโทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 160 ทั้งหนักและเบาแตกต่างกันออกไป ดังนี้
◾ กรณีเมาแล้วขับครั้งแรก จะต้องถูกระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถูกสั่งพักใช้ใบขับขี่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือถูกเพิกถอนใบขับขี่
◾ กรณีเมาแล้วขับซ้ำภายในระยะเวลา 2 ปี จะถูกเพิ่มอัตราโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับตั้งแต่ 50,000 – 100,000 บาท โดยศาลจะลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ ถูกพักใช้ใบขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือถูกเพิกถอนใบขับขี่ ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565
◾ กรณีเมาแล้วขับ จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจ จะถูกระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 – 5 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000 – 100,000 บาท และถูกพักใช้ใบขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือถูกเพิกถอนใบขับขี่
◾ กรณีเมาแล้วขับ จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส จะถูกระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 – 6 ปี ปรับตั้งแต่ 40,000 – 120,000 บาท และให้ศาลพักใช้ใบขับขี่ไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือเพิกถอนใบขับขี่
◾ กรณีเมาแล้วขับ จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จะถูกระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 – 10 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000 – 200,000 บาท และถูกเพิกถอนใบขับขี่ทันที
บทลงโทษ กรณีไม่เป่าแอลกอฮอล์
กรณีที่ผู้ขับขี่ไม่เป่าแอลกอฮอล์ ในทางกฎหมายจะถือว่าเมาแล้วขับ จะถูกระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับสูงสุด 20,000 บาท และถูกพักใช้ใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ
การดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถ ส่งผลทําให้ประสิทธิภาพในการควบคุมยานพาหนะลดลง และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝัน โดยเฉพาะกับผู้ขับขี่ที่มีอายุน้อย หรือมีประสบการณ์ในการขับขี่น้อย ดังนั้นวิธีป้องกันคือการเมาไม่ขับ จะเป็นการตัดโอกาสที่จะเกิดความสูญเสียได้ดีที่สุดนั่นเองครับ!