ถ้าพูดคำว่า "เซียงกง" เกือบทุกคนก็ว่าได้ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ย่อมรู้จักกันดีว่าเป็นศูนย์รวมอะไหล่รถยนต์ใช้แล้วนานาชนิดที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งอะไหล่เหล่านี้ แม้ว่าจะผ่านการใช้งานมาบ้างก็ตาม แต่ก็จัดว่ามีสภาพดี เพราะทางต้นทางส่วนใหญ่ใช้น้อย และยังมาใช้งานต่อในไทยได้ดีเลยทีเดียว
ภาพจาก ฮัทจิ ฮัทจิ
ต้นกำเนิดของ "เซียงกง" คงต้องย้อนไปตั้งแต่ยุคที่ “คนจีน” เดินทางจากบ้านเกิดเข้ามาทำมาหากินในอุษาคเนย์ จนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และก่อนที่จีนจะเป็นคอมมิวนิสต์ในปี 2492 เข้ามาทำมาหากินในไทย
โดยมากแล้วถ้าเป็นในกรุงเทพฯ คนจีนจะเกาะกลุ่มกันอยู่ในย่าน Chinatown แถวเยาวราช หรือศาลเจ้าเซียงกง ที่เรียกเพี้ยนไปเป็นคำว่า “เชียงกง” เป็นย่านที่คนจีนประกอบอาชีพค้าขายอะไหล่รถยนต์เก่า จักรยานเก่า ตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง
คำว่า เซียงกง มาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว คำว่า “仙公“ ในภาษาไทยหมายถึง “ปู่เทวดา” (仙 (เซียง) แปลว่า = เซียน ส่วน 公 (กง) = แปลว่า ปู่ หรือสาธารณะ) เป็นชื่อของศาลเจ้าเซียงกงเกง (仙公宮) ที่ตั้งอยู่ถนนทรงวาด ใกล้เคียงกับซอยวานิช 2
ประวัติของศาลเจ้าเซียงกงเกง สร้างขึ้นประมาณปี 2414 โดยชาวจีนฮกเกี้ยนที่อพยพเข้ามาในกรุงเทพฯ ร่วมกันสร้างศาลเจ้า และนำรูปปั้นของท่านจากมณฑลฮกเกี้ยน มาประดิษฐาน ณ ที่แห่งนี้
เนื่องจากย่านรอบๆ ศาลเจ้าเซียงกงเกง มีร้านขายของเก่า ขายอะไหล่รถยนต์ รถจักรยาน และอะไหล่เครื่องจักรต่างๆ มาก เมื่อคนจะไปซื้ออะไหล่ มักจะเรียกติดปากกันว่า “ไปเซียงกง” จนคนตีความหมายไปเป็นไปย่านซื้อขายอะไหล่รถเก่าไปแทน
และเมื่อในย่านเยาวราช เริ่มแออัดมากขึ้น จึงย้ายเซียงกงออกไปเปิดใหม่ในย่านต่างๆ เช่น เซียงกงรังสิต, เซียงกงสวนหลวง, เชียงกงสวนผัก, เชียงกงตลิ่งชัน, เชียงกงพระราม 3, เชียงกงมีนบุรี, เซียงกงบางนา, เซียงกงบางพลี และในต่างจังหวัดก็มี เช่น เชียงกงวังน้อย, เชียงกงโคราช, เชียงกงเชียงใหม่ หรือ เชียงกงหาดใหญ่ เป็นต้น
อะไหล่รถยนต์ที่มีขายตามเซียงกงย่านต่างๆ โดยมากจะนำเข้ามาจากญี่ปุ่น เพราะเป็นรถพวงมาลัยขวาเหมือนกัน และมีรุ่นที่ขายในบ้านเราเยอะ
ซึ่งในญี่ปุ่นรถยนต์ถ้าเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่มักไม่ซ่อม หรือรถเก่ามักจะทิ้ง เพราะค่าใช้จ่ายแพง รวมถึงอายุการใช้งานของรถที่น้อย อะไหล่ที่แยกชิ้นส่วนขายส่วนใหญ่จึงมีสภาพที่ดี ราคาไม่แพงนัก
แต่บางส่วนก็มีการนำเข้ามาจากสิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน ฮ่องกง หรือไกลหน่อยอย่างสหรัฐอเมริกาก็มี
และนี่ล่ะครับ จากชื่อศาลเจ้า กลายเป็นคำไทย ที่ใช้ในธุรกิจซื้อขายอะไหล่รถเก่า ค้าของเก่า รวมไปถึงการเปรียบเปรยเกี่ยวกับของเก่า อะไหล่เก่า อีกด้วย!
แหล่งที่มาบางส่วนจาก:
- Carro ทำไมย่านขายอะไหล่รถเก่า ถึงต้องเรียกว่า “เซียงกง”
- “เซียงกง/เชียงกง-แหล่งขายของเก่า” คำจีนที่ไทยยืมใช้จนความหมายไกลจากเค้าเดิม?
- Wikipedia
- กองการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร
- ภาพจาก โหงวชัย นวลจันทร์