1. ประเมินความต้องการของตัวเอง
ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์ เริ่มแรกเราต้องประเมินตัวเองก่อนว่า รถยนต์ที่ซื้อมานั้น เป็นประโยชน์ต่อการใช้งานประจำวันอย่างไร? บางคนเลือกซื้อรถครอบครัว ประเภท SUV เพื่อความสะดวกสบายในการบรรทุกคนในครอบครัว บางคนเลือกซื้อรถขนาดเล็ก เพราะนำมาใช้ขับระยะใกล้ หรือขับขี่ในเมืองเสียส่วนใหญ่ เพื่อประหยัดน้ำมัน และราคาไม่แพงเกินไป
2. ประเภทรถ
เมื่อรู้งบประมาณคร่าวๆ แล้ว ให้ถามตัวเองว่า ต้องการใช้รถเพื่ออะไร ถ้ายังตอบไม่ได้ให้พิจารณาจากการใช้ชีวิตเป็นหลัก เช่น
นาย A เป็นพนักงานออฟฟิศ อาศัยอยู่ในตัวเมือง โสด ไปไหนคนเดียวเป็นประจำ ไม่ค่อยได้ออกต่างจังหวัด รถที่เหมาะคงเป็น รถเก๋งขนาดเล็ก หรืออีโคคาร์ เพราะมีจุดเด่นเรื่องประหยัดน้ำมัน คล่องตัว หาที่จอดง่าย
นาย B เป็นวิศวกร ต้องเดินทางออกไซท์งานต่างจังหวัด เจอถนนขรุขระเป็นประจำ แต่ละวันมีผู้โดยสารติดตามไปด้วย 2-3 คนเสมอ รถที่เหมาะน่าจะเป็นรถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV)
นาย C อาชีพค้าขาย ต้องออกไปรับซื้อสินค้าทุกเช้า รถที่เหมาะควรเป็นรถพิคอัพ
นาย D เป็นผู้บริหาร ต้องเดินทางติดต่อธุรกิจเป็นประจำ รวมถึงมีกิจกรรมทางสังคมอยู่เสมอ ดังนั้นภาพลักษณ์ที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ รถที่เหมาะควรเป็นรถเก๋งขนาดใหญ่
นอกจากนี้ต้องดูส่วนประกอบอื่นด้วย เช่น จำนวนสมาชิกในครอบครัว หรือขนาดที่จอดรถ ประกอบการตัดสินใจด้วย
3. ยี่ห้อ
คนไทยนิยมใช้รถจากประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก เนื่องจากสะสมความน่าเชื่อถือมายาวนาน หน้าตาสวยงามทันสมัย ราคาเหมาะสมกับคุณภาพ การบริการหลังการขายมั่นใจได้ ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาต่ำ และที่สำคัญบริโภคเชื้อเพลิงน้อย
รองลงมา คือ รถจากทวีปยุโรป โดยเฉพาะรถเยอรมนี ที่มีคุณภาพระดับโลก สมรรถนะยอดเยี่ยม รูปลักษณ์หรูหรา ภูมิฐาน แต่ต้องแลกมาด้วยราคา อะไหล่ และค่าบริการที่อาจสูงกว่ารถญี่ปุ่นระดับเดียวกันกว่าเท่าตัว ดังนั้นการเลือกยี่ห้อจึงต้องพิจารณาให้รอบด้าน
4. ราคาขายต่อ
รถยนต์ไม่ว่ายี่ห้อใด มูลค่าจะลดลงทันทีที่ถอยออกจากโชว์รูม เรื่องราคาขายต่อจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องคำนึงถึงในการเลือกซื้อรถ ในบ้านเรารถที่ราคาขายต่อดี มักเป็นรถที่มียอดขายมากที่สุดในกลุ่มรถประเภทเดียวกัน
5. ทดลองขับ
"การทดลองขับ" คือ จุดตัดสินว่า รถที่หมายตาไว้มัน "ใช่" สำหรับคุณหรือไม่ หลายต่อหลายครั้งที่รูปลักษณ์ถูกใจ แต่เมื่อทดลองขับแล้วกลับรู้สึกไม่ชอบ รถบางคันใช้เครื่องยนต์เล็กราคาถูกแต่ขับแล้วอึดอัด อัตราเร่งไม่ตอบสนองการใช้งานของเรา, บางคันเครื่องยนต์ใหญ่ให้ออพชันเยอะ แต่เครื่องแรงเกินไปอาจคุมรถไม่อยู่แบบนี้ก็ไม่เหมาะ
6. คำนวนว่าคุณมีกำลังจ่ายเท่าไหร่ เพื่อกำหนดงบประมาณ
หลายคนเลือกรถที่เหมาะกับการใช้งานของตัวเองก่อน แล้วค่อยมามองเรื่องงบประมาณ แต่บางคนก็เลือกงบประมาณที่ตัวเองพอมีกำลังจ่ายก่อนประเภทรถ แนะนำว่าควรเลือกประเภทรถที่เหมาะสมกับการใข้งานมากที่สุดนะคะ
งบประมาณที่เรามี หรือ กำลังทรัพย์ในการเลือกเป็นเจ้าของรถสักคัน ไม่ว่าจะเป็นการ ดาวน์ ผ่อนจ่าย หรือจ่ายสด ควรประเมินค่าใช้จ่ายรายเดือนของตัวเอง หากใครที่เลือกเป็นการผ่อนชำระเป็นงวดในแต่ละเดือน หักค่าใช้จ่ายส่วนอื่นแล้ว ยังมีเงินเหลือพอที่จะส่งรถได้หรือไม่ และนอกจากราคารถที่เราจะซื้อแล้ว ต้องมาคำนวนงบประมาณในส่วนการซ่อมบำรุง การเช็คประจำปีต่างๆ ค่าน้ำมัน ค่าเสื่อม ภาษี หรือดอกเบี้ย ควรคิดเผื่อไว้ เพื่อเตรียมเงินสำรองในส่วนนี้
ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน บางคนอาจซื้อเพราะชอบรูปทรง บางคนเลือกซื้อเพราะแบรนด์ เป็นความชอบของแต่ละบุคคล แต่อย่าลืมตระหนักเรื่องการใช้งานกันด้วยนะครับ!