กฎหมาย ขับรถชนสุนัข ใครผิด ? และประกันคุ้มครองไหม ? หาคำตอบไปพร้อมๆ กันครับ
ว่าด้วย กฎหมาย ขับรถชนสุนัข “สุนัขวิ่งตัดหน้ารถ เจ้าของผิดไหม”
กรณี “สุนัขวิ่งตัดหน้ารถ” จนทำให้เกิดอุบัติเหตุ แบ่งออกเป็น 2 ประเด็น ดังนี้
1.กรณีขับรถเข้าไปในบ้านที่เลี้ยงสุนัข
เช่น คุณขับรถไปหาเพื่อนที่บ้าน ซึ่งบ้านของเพื่อนเลี้ยงสุนัขไว้ก่อนแล้ว เมื่อไปถึงปรากฏว่าคุณชนสุนัขของเพื่อจนได้รับบาดเจ็บ รวมถึงรถยนต์ของคุณก็เกิดความเสียหายด้วย หากเป็นกรณีนี้ชัดเจนเลยว่า “คุณเป็นฝ่ายผิด” เนื่องจากสุนัขอยู่ภายในพื้นที่ส่วนบุคคลของผู้เป็นเจ้าของ
2.กรณีขับรถบนท้องถนน แล้วสุนัขวิ่งตัดหน้ารถ
ในกรณีที่คุณกำลังขับรถอยู่บนถนน แล้วอยู่ดี ๆ ก็มีสุนัขวิ่งพรวดพราดออกมาบนถนน ไม่ว่าจะเป็นถนนสาธารณะหรือที่นิติบุคคล ที่อนุญาตให้ใช้เป็นทางเดินรถ (ถนนหมู่บ้าน) ผลปรากฏว่ารถยนต์ได้รับความเสียหาย และสุนัขได้รับบาดเจ็บ กรณีนี้ชัดเจนเลยว่า “สุนัขเป็นฝ่ายผิด และเจ้าของสุนัขจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้น”
อ้างอิงตาม “พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522” กล่าวว่า เนื่องจากถนนไม่ใช่ที่ทางสำหรับสัตว์ เจ้าของสัตว์ต้องมีการป้องกันและระมัดระวังให้กับสัตว์เลี้ยง การที่เจ้าของปล่อยสัตว์เลี้ยงเข้ามาในเขตถนน ถือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หากเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน “ผู้ขับไม่ต้องรับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดกับสุนัข” นอกจากนี้ยังสามารถเรียกร้องสินไหมกับเจ้าของสัตว์ ในกรณีที่รถได้รับความเสียหายได้อีกด้วย
นอกจากนี้การที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงปล่อยปละละเลย ไม่สามารถควบคุมสัตว์เลี้ยงของตัวเองได้ และมีการออกมาเพ่นพ่านบนถนน จนก่อให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น เจ้าของมีความผิดตาม “ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337” อีกด้วย ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เดือน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ต้องทำอย่างไร ? เมื่อขับรถชนสุนัข
หากคุณกำลังเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ขับรถชนสุนัข ไม่ว่าจะด้วยตั้งใจก็ดีหรือไม่ตั้งใจก็ดี สิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรก คือ ควบคุมสติ จอดรถยนต์และเปิดไฟฉุกเฉินทันที ห้ามขับหนีเด็ดขาด เพราะอาจมีความผิดทางกฎหมาย พ.รบ.คุ้มครองสัตว์ หลังจากนั้นให้ลงจากรถมาดูสุนัขที่ประสบอุบัติเหตุ หากพบว่ายังมีลมหายใจให้พาไปรักษากับสัตวแพทย์โดยเร็วที่สุด (กรณีเป็นสุนัขจรจัด) แต่ถ้าหากสุนัขที่คุณชน เป็นสัตว์เลี้ยงที่มีเจ้าของ ให้คุณทำการปรึกษาเจ้าของก่อนตัดสินใจพาสุนัขไปรักษา
“ขับรถชนสุนัข” ประกันคุ้มครองไหม ?
กรณีพิจารณาจากเหตุการณ์/อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น พบว่าคุณ (ซึ่งเป็นคนขับรถ) เป็นฝ่ายผิด แม้จะไม่ได้เจตนา คุณจะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับเจ้าของสุนัข เว้นแต่ว่าคุณได้ทำประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 เอาไว้ บริษัทจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้แทน นอกจากนี้หากเจ้าของสุนัขมีหลักฐานชัดเจน ว่าผู้ขับขี่ “ตั้งใจ” จะขับชนสุนัข ผู้ขับขี่ก็จะมีความผิดทางกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ รวมถึงอาจนำไปสู่ “คดีความ” มีโทษทั้งจำทั้งปรับ
กรณีที่รถยนต์ของคุณมีเพียงประกันภัยรถยนต์ประเภทอื่น ๆ (ที่ไม่ใช่ประเภท 1) ประกันจะไม่รับผิดชอบ และไม่ให้ความคุ้มครองใด ๆ คุณจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด
พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรม และจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557
จุดประสงค์ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ก็เพื่อป้องกันไม่ให้คนทารุณสัตว์โดยไม่มีสาเหตุ เพราะสัตว์ทุกตัวมีชีวิต และย่อมรักชีวิตของตัวเองเช่นเดียวกับมนุษย์ ดังนั้นหากเกิดเหตุทารุณกรรมสัตว์ หรือตั้งใจทำให้สัตว์ได้รับบาดเจ็บ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด ๆ ก็ตาม จะมีความผิดตาม พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรม และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 ที่ระบุโทษจำคุก 2 ปี หรือปรับ 40,000 บาท
ดังนั้น หากเจ้าของสัตว์เลี้ยงปล่อยปละละเลยให้สัตว์เลี้ยงออกไปเดินเล่นบนถนนโดยไม่ดูแลให้ดีจนเกิดอุบัติเหตุรถชนสัตว์เลี้ยง เจ้าของหรือผู้ดูแลสัตว์เลี้ยงเป็นฝ่ายผิด หากมีความเสียหายเจ้าของรถสามารถเรียกร้องกับเจ้าของสัตว์เลี้ยงหรือผู้ดูแลได้ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าเจ้าของสัตว์เลี้ยงจะต้องมีหน้าที่ดูแลน้องหมา น้องแมว ไม่ให้วิ่งเล่นบนถนนสาธารณะ หรือกีดขวางการจราจร ซึ่งเมื่อเกิดอุบัติเหตุจะต้องเป็นฝ่ายผิดและรับผิดชอบ แต่ผู้ขับขี่รถก็ควรต้องใช้ความระมัดระวังในการขับขี่เพื่อความปลอดภัย และหากมีเจตนาขับรถชนหมา หรือสัตว์เลี้ยง ถือว่ามีความผิดได้เช่นกัน