1. ระยะทางในการขับขี่สั้นกว่าที่ผู้ผลิตระบุไว้
ระยะทางขับขี่ที่วิ่งได้ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เพราะรถ EV ที่มีระยะทางขับขี่ไกลกว่า จะช่วยลดความกังวลว่าแบตเตอรี่จะหมดระหว่างทางได้ อย่างไรก็ดี ระยะทางขับขี่ในการใช้งานจริงมักน้อยกว่าที่ผู้ผลิตเคลมไว้เสมอ ขึ้นได้กับหลายปัจจัย เช่น ความเร็วในการขับขี่, สภาพอากาศ, น้ำหนักบรรทุก ฯลฯ
ยิ่งถ้าเป็นการขับขี่ทางไกลด้วยความเร็วสูงต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ก็ยิ่งจะทำให้ระยะทางขับขี่สั้นลง เนื่องจากแบตเตอรี่จำเป็นต้องจ่ายไฟไปยังมอเตอร์อย่างต่อเนื่อง แตกต่างจากการใช้งานในเมืองที่มีสภาพการจราจรหนาแน่น ที่จะมีการสร้างกระแสไฟกลับไปยังแบตเตอรี่เป็นระยะ ทำให้ระยะทางที่ปรากฏบนหน้าจอมีความเสถียรมากกว่า ซึ่งถือเป็นข้อแตกต่างอย่างตรงกันข้ามกับรถที่ใช้น้ำมัน
2. ต้องวางแผนอย่างรอบคอบก่อนเดินทางไกล
หากจำเป็นต้องขับรถทางไกลด้วยรถยนต์ไฟฟ้า ผู้ขับขี่จำเป็นต้องวางแผนเส้นทางอย่างรอบคอบเพื่อให้แน่ใจว่ามีสถานีชาร์จระหว่างทางเสมอ มิเช่นนั้นแล้วอาจเจอปัญหาแบตเตอรี่หมดกลางทางได้ แตกต่างจากรถน้ำมันที่สามารถเดินทางไปยังจุดหมายได้ทันทีไม่ว่าจะใกล้หรือไกลแค่ไหนก็ตาม ขอเพียงแค่ให้รถอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานเท่านั้น
3. ช่วงเทศกาล (อาจ) ต้องแย่งกันชาร์จไฟ
ปัจจุบันทั้งภาครัฐและเอกชนได้มีการขยายเครือข่ายสถานีชาร์จครอบคลุมไปยังพื้นที่หลายจังหวัดแล้วก็จริง แต่จำนวนตู้ชาร์จก็ยังถือว่าค่อนข้างจำกัดเมื่อเทียบกับปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าที่วิ่งอยู่บนท้องถนน ยิ่งถ้าหากคนส่วนใหญ่เดินทางพร้อมกันในช่วงเทศกาลแล้วล่ะก็ ยิ่งจะทำให้การเดินทางลำบากและวุ่นวายกว่าเดิมอย่างแน่นอน
4. ต้องเสียเวลาชาร์จนาน
แม้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าแทบทุกรุ่นที่วางจำหน่ายจะมีระบบชาร์จด่วนแบบ DC ซึ่งผู้ผลิตมักเคลมว่าสามารถชาร์จถึง 80% ได้ในเวลา 30-40 นาทีเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงตู้ชาร์จ DC แต่ละตู้ต่างก็ปล่อยกระแสไฟในปริมาณไม่เท่ากัน บางตู้ปล่อยไฟสูงสุดได้ 120 kW แต่แบ่งออกเป็น 2 หัว หากมีรถสองคันชาร์จพร้อมกันก็ปล่อยได้สูงสุดหัวละ 60 kW ยิ่งถ้าเจอกับสภาพอากาศที่ร้อนจัด การปล่อยไฟก็ยิ่งลดลงไปอีก ทำให้การชาร์จไฟช้ากว่าที่คาดหวังเอาไว้
จากที่เคยเสียเวลากับการเติมน้ำมันเพียงแค่ 3-5 นาทีต่อครั้ง กลายเป็นต้องเสียเวลารอชาร์จไฟอยู่ร่วมชั่วโมง หากต้องเดินทางไกลกับครอบครัวก็จะกลายเป็นเรื่องที่ไม่น่าสนุกเอาเสียเลย
5. ผู้ผลิต EV ยังไม่หลากหลายเท่าที่ควร
ปัจจุบันตลาดรถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในมือของผู้ผลิตไม่กี่ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตเกิดใหม่จากประเทศจีน ขณะที่แบรนด์เก่าแก่จากญี่ปุ่นซึ่งมีชื่อเสียงในด้านคุณภาพ, ความทนทาน, บริการหลังการขาย ฯลฯ ก็ยังไม่ลงมาทำตลาด EV อย่างจริงจังเท่าที่ควร จึงทำให้ทางเลือกของผู้บริโภคเป็นไปอย่างจำกัดอยู่ดี