"เครื่องชั่งน้ำหนักรถ" นี้ ตามปกติจะมีการใช้งานกันอยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการชั่งน้ำหนักรถยนต์ขนาดเล็ก หรือรถบรรทุกขนาดใหญ่ โดยมีใช้กันทั้งในหน่วยงานเอกชน หรือหน่วยงานภาครัฐ และในหน่วยงานการขนส่งต่างๆ
ภาพจาก ชยพล แสงใส
ซึ่งในหน่วยงานเอกชน ข้อมูลจากเครื่องชั่งน้ำหนักนั้น มีความสำคัญในการทำธุรกรรมทางธุรกิจ หรือใช้ตรวจสอบน้ำหนักของสินค้าที่บรรทุก เปรียบเสมือนกับเครื่องคำนวณเงินอีกอย่างหนึ่ง
ส่วนในหน่วยงานของรัฐ เครื่องชั่งน้ำหนักก็จัดมีความสำคัญในการตรวจสอบว่ารถบรรทุกคันนั้น ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของขีดจำกัดการบรรทุกน้ำหนักของยานพาหนะที่ใช้บนท้องถนนได้หรือไม่ เพราะถ้าหากน้ำหนักเกิน ก็จะถือว่าผิดกฎหมาย (เว้นแต่จะจ่ายส่วยสติ๊กเกอร์)
ภาพจาก ชยพล แสงใส
ซึ่งการชั่งน้ำหนักรถ นับได้ว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ทั้งตัวผู้ขับขี่รถยนต์ และสิ่งแวดล้อมโดยรอบ เพราะหากบรรทุกสินค้าเกินพิกัด ก็จะทำให้ถนนที่สร้างไว้พังเร็วกว่ากำหนด เกิดความเสียหาย ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินในการซ่อมแซมอย่างสิ้นเปลืองอยู่เรื่อยไป
ภาพจาก ชยพล แสงใส
กฎหมายจึงพิกัดน้ำหนักรถบรรทุก และกำหนดเกณฑ์บรรทุกสินค้าของรถประเภทต่างๆ ไว้ ดังนี้
- รถกระบะ 4 ล้อ อนุญาตให้มีน้ำหนักบรรทุกสูงสุดไม่เกิน 3.5 ตัน
- รถบรรทุก 4 ล้อ อนุญาตให้มีน้ำหนักบรรทุกสูงสุดไม่เกิน 9.5 ตัน
- รถบรรทุก 6 ล้อ อนุญาตให้มีน้ำหนักบรรทุกสูงสุดไม่เกิน 15 ตัน
- รถบรรทุก 10 ล้อ อนุญาตให้มีน้ำหนักบรรทุกสูงสุดไม่เกิน 25 ตัน
- รถพ่วง 6 เพลา 22 ล้อ อนุญาตให้มีน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 50.5 ตัน
ภาพจาก Thai Scale
เครื่องชั่งน้ำหนักรถ ลักษณะเป็นอย่างไร?
สำหรับเครื่องชั่งน้ำหนักรถ ที่ติดตั้งแบบแท่นลอย หรือฝังพื้น ส่วนใหญ่จะติดตั้งในบริเวณกลางแจ้ง เช่น ทางขึ้นทางด่วน หรือในลานกว้างของโรงงาน ที่รถสามารถวิ่งขึ้นไปได้อย่างสะดวก มีรากฐานที่ทำจากคอนกรีตเสริมเหล็ก พร้อมแท่นชั่งตามขนาด กว้าง X ยาว ที่ผู้ใช้งานต้องการ พร้อมห้องควบคุม
ภาพจาก Tonan Asia Autotech
ซึ่งต้องมีคุณสมบัติทนทานต่อสภาพแวดล้อมทุกชนิด รับน้ำหนักได้ถึงพิกัดสูงสุด และยังคงการทำงานได้อย่างปกติและถูกต้องแม่นยำ ความผิดพลาด (Error) ไม่เกิน ± 1% และต้องมีอายุการใช้งานได้หลายๆ ปี
ภาพจาก Tonan Asia Autotech
โดยเครื่องชั่งน้ำหนักรถ ก็มีให้เลือกใช้ในหลายรูปแบบ อาทิเช่น หน้าจอแสดงผลแบบดิจิทัล มีไฟแสดงผลสีเขียว สีแดง มีคอมพิวเตอร์ควบคุมการทำงาน มีปริ้นเตอร์ สำหรับพิมพ์รายละเอียดข้อมูลน้ำหนัก มีระบบปรับค่าศูนย์แบบอัตโนมัติ เพื่อรักษาค่านํ้าหนักในการชั่งเพื่อความเที่ยงตรง ในกรณีที่เครื่องมีน้ำหนักตัวเลขค้างอยู่ ระบบต้องทําการปรับค่าให้เป็นศูนย์ (Auto Zero) ได้
ภาพจาก Manote Homjai
อีกทั้งยังควรมีฟังก์ชั่น Filter Mode สําหรับหน่วงค่าเพื่อป้องกันแรงลมปะทะแท่นชั่งนํ้าหนัก พร้อมระบบป้องกันการลัดวงจรของกระแสไฟฟ้า และป้องกันฟ้าผ่า พร้อมเดินท่อร้อยสายไฟสําหรับเดินสายสัญญาณที่โครงสร้างแท่นชั่ง เป็นท่อเหล็กสําหรับงานไฟฟ้า (EMT) พร้อมกล่องแยกสาย เป็นต้น
และอีกแบบ คือ แบบพกพาเคลื่อนที่ได้ สำหรับใช้งานนอกสถานที่ หรือ Weighbridge Portable Truck Scale ลักษณะจะเป็นแผ่นให้รถเหยียบ โดยมีพิกัดรับน้ำหนักสูงสุดได้หลายขนาด พร้อมกับเครื่องแสดงผลที่เป็นตัวเลขแบบดิจิทัล สามารถทำงานผ่าน Wi-Fi ได้ และมีเครื่องพิมพ์รายละเอียดในตัว
อีกทั้งเครื่องชั่งที่ได้มาตรฐาน จะต้องมีเอกสารรับรองมาตรฐานโดยหน่วยงานราชการ กระทรวงพาณิชย์ กองชั่ง ตวง วัด ด้วยนะครับ
แหล่งที่มาบางส่วนจาก
- ห้างง่วนไช่หลี
- กรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม